
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 14/2568 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงข้าราชการการเมือง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารหน่วยงานใน ศธ. และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting
.
สำหรับการสรุปผลการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล ในส่วนของ สพฐ. ได้รายงาน ความก้าวหน้าการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 437,585 คน อบรมเสร็จแล้ว จำนวน 340,583 คน พร้อมทั้งนำเสนอผลการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ นำสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาของทุกเขตพื้นที่การศึกษาต่อผู้บริหาร สพฐ. โดยแต่ละทีมประกอบด้วย ผอ.สพท. ผอ.โรงเรียน และครูแกนนำ ส่วนหนึ่งจะได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอต่อ รมว.ศธ. ต่อไป และได้รายงานแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล แบ่งเป็น ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีพัฒนาการคิด ส่งเสริมการสร้างประสบการณ์แบบ Active Learning, EF ส่งเสริมกิจกรรมตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย/วิทยาศาสตร์พลังสิบ ส่งเสริมด้านคณิตศาสตร์ ฝึกสมรรถนะด้านการอ่าน และทดลองทำข้อสอบตามมาตรฐานสากล ทางออนไลน์ ออฟไลน์ และ Paper เพื่อผลลัพธ์คือนักเรียนมีทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ขั้นสูง มีกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล และใช้คอมพิวเตอร์ได้คล่อง
.
นอกจากนี้ ในส่วนของการประยุกต์ใช้ AI กับการสร้างข้อสอบแนว PISA โดย สพม.กำแพงเพชร ได้นำเสนอแนวทางการใช้ ChatGPT ฝึกการเขียน Prompt (พร้อมต์) เพื่อสร้างข้อสอบด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานควรตรวจสอบความถูกต้อง เรียบเรียงปรับใช้ตามบริบท และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพของการใช้ AI ขณะที่การใช้ AI กับการประเมินผลการตอบของนักเรียนในการทำข้อสอบแนว PISA โดย สพป.เชียงใหม่ เขต 2 ได้นำเสนอคู่มือการใช้ generative AI ช่วยสร้างแบบข้อสอบ และในส่วนการจัดกิจกรรมปิดเทอมใหญ่ เด็กไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” สัปดาห์ที่ 4 มีเด็กๆ ร่วมเล่นเกมในสัปดาห์นี้ จำนวน 671 คน โดยจะจับฉลากนักเรียนที่ตอบถูกทุกข้อ เพื่อรับรางวัลจาก รมว.ศธ. จำนวน 5 รางวัล
.
โอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้มอบให้ สสวท. เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการใช้ AI สำหรับการสร้างและประเมินข้อสอบตามมาตรฐานสากลอย่างเข้มข้น และขอให้หน่วยงานผู้ใช้ต้องตรวจสอบความถูกต้อง ความสอดคล้องกับบริบทของหน่วยงาน ของข้อมูลจาก AI และตรวจสอบว่า ในโลกออนไลน์ มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วนเพียงพอที่จะให้ AI ช่วยเราจัดเรียงข้อมูลหรือไม่
.
ทางด้านสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำเสนอทิศทางการจัดการศึกษา ปี 2040 : เป้าหมายใหม่ในโลกดิจิทัล (ข้อมูลจาก OECD) โดยมีหัวใจหลักของ “วิสัยทัศน์การศึกษา 2040” ประกอบด้วย เรียนรู้เพื่อชีวิต ไม่ใช่แค่เพื่อการสอบ ระบบการศึกษาต้องเตรียมให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองโลกที่มีจิตสำนึกและการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็น “เครื่องมือ” ไม่ใช่ “เป้าหมาย” ของการศึกษา และมีจุดเน้น ประกอบด้วย การออกแบบหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคต, ปรับเปลี่ยนการสอน ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และใช้เทคนิคเชิงรุก, การประเมินผลต้องช่วยส่งเสริมการเรียนรู้, ครูและระบบต้องพร้อม โดย รมว.ศธ. ขอให้ สกศ. เป็นเจ้าภาพหลัก และขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาว่า ปี 2025 เราอยู่จุดไหน และปี 2030-2040 เราจะคืบหน้าไปสู่จุดไหน มีทิศทางอย่างไร อีกทั้งควรบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และฝาก สพฐ. และ สกร. วิเคราะห์บทบาทการดำเนินงานของตน และใช้ข้อเสนอของ สกศ. เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
.
ข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.











