
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้กล่าวทักทายและให้กำลังใจข้าราชการครูและผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ สังกัด สพม.ราชบุรี ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้และการสร้างแบบทดสอบเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านตามแนวทางการประเมินนานาชาติ (PISA) และการประเมินระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET โดยใช้เทคโนโลยี AI ณ ห้องประชุมสัตตบุตย์ โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี
.
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จัดโดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี (สพม.ราชบุรี) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพม.ราชบุรี ให้สูงขึ้นในทุกระดับ ได้แก่ ระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับชาติ และนานาชาติ พร้อมทั้งพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (Personalized Learning) โดยมีเป้าหมาย คือการส่งเสริม สนับสนุน ให้กับครูในสถานศึกษาได้รับการพัฒนาความสามารถด้านการวัดและประเมินผลของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินนานาชาติ PISA และการประเมินระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET ของระดับสถานศึกษา รวมถึงการพัฒนาการสร้างแบบทดสอบและพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินนานาชาติ (PISA) และการประเมินระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET โดยใช้เทคโนโลยี AI โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรในสังกัด สพม.ราชบุรี จำนวน 107 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี รองผู้บริหารการศึกษาศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาลงสู่นักเรียนเป็นรายบุคคล ตามหลักการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิตและการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาการสร้างแบบทดสอบและพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินนานาชาติ (PISA) และการประเมินระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” เกิดสมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ได้ตามนโยบายอย่างแท้จริง
.
สำหรับการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาร่วมในการพัฒนานั้น ที่ผ่านมาในการออกข้อสอบครูผู้สอนจะวิเคราะห์หาค่าความยากง่ายของข้อสอบแต่ละข้อผ่านโปรแกรมต่าง ๆ และคำตอบของผู้เรียนจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ครูได้วิเคราะห์ทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ของผู้เรียนที่ตอบ คืออะไร เพื่อให้ครูสามารถนำมาวางแผนการสอนได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันการใช้ AI จะช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยลดภาระครู ถ้าเราได้เรียนรู้การใช้ที่มีประสิทธิภาพ และข้อควรระวังในการใช้ AI ถ้าชุดข้อมูลที่ถูกต้องและมากเพียงพอ จะเปรียบเสมือนมีนักปราชญ์หลาย ๆ คน เป็นผู้ช่วยเรา ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ครูผู้สอนใช้ AI มีชุดข้อมูลที่เราร่วมสร้างซึ่งถูกต้อง จะเปรียบเสมือนเป็นห้องสมุดรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นคลังความรู้ที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าชุดข้อมูลมีไม่เพียงพอและไม่ถูกต้อง ในการ Generate ข้อมูล ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำไปใช้ต่อยอดต่อไป เราต้องใช้ AI เพื่อเป็นผู้ช่วยในการอำนวยความสะดวก รวบรวม จัดระเบียบข้อมูล นำมาใช้ในการช่วยเตรียมสอนได้
วิธีการสอนของครู ที่จะให้นักเรียนรักการเรียนรู้ รู้วิธีการแสวงหาองค์ความรู้ที่ถูกต้องและสามารถคัดกรองข้อมูล คิดวิเคราะห์ แยกแยะ เชื่อมโยงและสามารถจับประเด็นต่าง ๆ ได้ ทุกเรื่องราว ด้วยเหตุผล และสามารถตัดสินโดยใช้สติและปัญญา ในการลงมือทำ บนพื้นฐานของคำว่า “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ”
.
“สิ่งสำคัญที่อยากฝากให้ครูทุกคนมองภาพการทำงานไปข้างหน้า จากที่ประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการการนำเสนอของ OECD มองในปี 2040 มีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เรื่องของหลักสูตรที่ยืดหยุ่น คือ เป็นหลักสูตรที่สามารถบูรณาการงานต่างๆ ได้โดยการบริหารจัดการการใช้หลักสูตรด้วยตัวเราเองเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์ความรู้ของนักเรียน, การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง จัดแบบ Active learning นักเรียนต้องมีส่วนร่วม สามารถจับประเด็นและถ่ายทอดออกมาเป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจได้, เรื่องของการประเมินผล ที่ไม่ใช่ประเมินผลเพื่อตัดสิน แต่ต้องเป็นการประเมินผลที่ส่งเสริมการเรียนรู้ต่อการเรียนของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกที่อยากเรียนต่อไป และเรื่องของครูต้องมีทักษะที่เข้าใจนักเรียนและมีทักษะในด้านดิจิทัล สุดท้ายนี้ ในวันนี้รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่มีโอกาสได้มาเจอทุก ๆ คน และขอเป็นกำลังใจในความทุ่มเทในการทำหน้าที่หลักที่สมบูรณ์ เป็นงานหลักของเราทุกคนที่จะร่วมกันสร้างคน เป็นครูที่เป็นผู้นำสร้างศรัทธาให้ผู้เรียนมีแรงบัลดาลใจต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว








