
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเส้นทางสู่การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ (ครั้งที่ 1) ผ่านระบบ Online โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. นายนรินธรณ์ เซ่งล้ำ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
.
นายพัฒนะ พัฒนทวีดล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รู้สึกยินดีและขอขอบคุณผู้อำนวยการโรงเรียน ครู อาจารย์ ที่ร่วมสมัครพัฒนาโมเดลการศึกษายืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัด สพฐ. ที่กระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ที่ได้มาร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนทุกคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ในช่วงเปิดภาคเรียนปี 2568 นี้ โดยเป้าหมายของการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนกลับเข้าสู่ห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่คือการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตของเด็กทุกคน และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่ง สพฐ. มีทิศทางและนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่ได้กำหนดให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ 1.การจัดการศึกษาในระบบ เหมือนหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน 2.การศึกษานอกระบบ สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม และ 3.การศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ
.
การดำเนินงาน 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ มีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้แจ้งประกาศใช้คู่มือแนวทางการจัดการที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สำหรับสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ซึ่งปัจจุบันมี 54 โรงเรียนต้นแบบฯ เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา โดยความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้เริ่มต้นจุดประกายการจัดการศึกษาดังกล่าว และการร่วมขยายตัวแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วยนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบให้ครอบคลุมอย่างน้อย 1 อำเภอ 1 สถานศึกษาที่ยืดหยุ่น ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญด้านโอกาส ว่าต้นแบบของการจัดการศึกษาที่มีทางเลือกหลากหลายและเหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน สามารถทำได้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร ผ่านการทำงานของสถานศึกษาต้นแบบที่ได้ดำเนินการมาก่อน ซึ่งหัวใจสำคัญของ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ คือการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนตามความถนัดอย่างเต็มศักยภาพ
.
ขณะเดียวกัน สพฐ. ยังได้ดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ได้ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ในการทำงานร่วมกับ กสศ. โดยมีแนวทางดังนี้ 1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา 2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม 3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่นมีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง และ 4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษา หรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15-18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินการร่วมกับ กสศ.
.
“สพฐ. พร้อมสนับสนุนทุกท่านที่ตั้งใจร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน เพื่อให้เด็กทุกคนมีความพร้อม มีศักยภาพของตัวเอง และขอขอบคุณ กสศ. ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู อาจารย์ ที่ได้มาร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นโรงเรียนนำร่องให้กับจังหวัดต่าง ๆ ได้ดำเนินการจัดการศึกษาดังกล่าวได้ นับเป็นความหวังของเด็ก ๆ ทุกคนที่จะมีโอกาสได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเสมอภาคตามศักยภาพของตนเองและเงื่อนไขของชีวิตเด็กแต่ละคน และเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าเด็กๆ จะมีข้อจำกัดใดก็ตาม นับจากนี้ไม่จำเป็นต้องออกไปจากระบบการศึกษา เพราะระบบการศึกษาปรับตัวเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นสำหรับเด็กทุกคน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว






