สพฐ. พัฒนาทักษะผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ พร้อมคืบหน้านำการเรียนไปให้น้อง


วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 18/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
โดยวันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) โดยพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ ปลูกฝังทักษะอาชีพครบวงจร สร้างสรรค์ผลงานเชิงพาณิชย์อย่างมีคุณธรรม เน้นการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาการเรียนการสอน ให้นักเรียนสามารถ “คิดได้ ทำเป็น ขายเป็น” ได้แก่ โครงการนักธุรกิจน้อยมีคุณธรรม นำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ได้มีการจัดอบรมออนไลน์หลักสูตรส่งเสริมพัฒนาทักษะนวัตกรผู้ประกอบการ ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะนวัตกรและการคิดเชิงนวัตกรรม ให้ผู้ประกอบการคิดวางแผนสร้างโมเดลธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อออนไลน์พัฒนาโมเดลธุรกิจที่นำไปสู่การสร้างรายได้ โดยมีผู้เข้าสมัครและอบรม จำนวน 2,109 คน มีผู้ผ่านการอบรมและได้รับเกียรติบัตร จำนวน 1,239 คน ส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป จะมีการจัดทำแหล่งรวบรวมผลงานและพื้นที่สำหรับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลิตภัณฑ์ของนักเรียน (Student Product Hub) ให้เป็นแหล่งรวบรวมผลงานของนักเรียนในสังกัด สพฐ. พร้อมทั้งเป็นพื้นที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของนักเรียนให้เป็นที่รู้จัก ในรูปแบบออนไลน์ และเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของนักเรียน
.
ขณะที่ความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีการขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ การช่วยเหลือ การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น การส่งต่อ และการติดตามดูแล ซึ่งได้มีการนำการเรียนไปให้น้องแล้ว 1,487 คน (ชั้นประถมฯ 246 คน ม.ต้น 818 คน ม.ปลาย 423 คน) และมีการส่งต่อแล้ว 897 คน (ชั้นประถมฯ 190 คน ม.ต้น 437 คน ม.ปลาย 270 คน) ส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป จะมีการติดตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และหารูปแบบวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) และในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะเริ่มดำเนินการทดลองสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำร่องใช้งานระบบสารสนเทศ Thailand Zero Dropout (TZD) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน

Loading