สพฐ. จับมือ ม.ดังญี่ปุ่น ลงนามความร่วมมือ “โรงเรียนส่งเสริมความปลอดภัย” (Safety Promotion School)

สพฐ. จับมือ ม.ดังญี่ปุ่น ลงนามความร่วมมือ "โรงเรียนส่งเสริมความปลอดภัย" (Safety Promotion School)

วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โครงการ “โรงเรียนส่งเสริมความปลอดภัย” (Safety Promotion School) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับมหาวิทยาลัย โอซากะ เคียวอิกุ ประเทศญี่ปุ่น นำโดย นายฟูจิตะ ไดซูเกะ ผู้แทนมหาวิทยาลัยโอซากะ เคียวอิกุ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ร่วมลงนาม โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. นางวรางคณา ไชยเรือน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. คณะทำงานศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. และคณะทำงานของมหาวิทยาลัยโอซากะ เคียวอิกุ เข้าร่วมในพิธี ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่มีความหมายยิ่งของ สพธ. ในการขับเคลื่อน “โครงการโรงเรียนส่งเสริมความปลอดภัย” ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการสร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่นักเรียนสามารถใช้ชีวิตและเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และมั่นใจในทุกย่างก้าวของตนเองในรั้วโรงเรียน ซึ่งตลอดมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษา ที่ต้องมีทั้ง “ความปลอดภัย” และ “ความสุขในการเรียนรู้” อย่างสมดุล ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ครูทำงานด้วยพลังและความมั่นใจ ผู้ปกครองและชุมชนมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อโรงเรียนเป็น “พื้นที่แห่งการดูแล และปลอดภัยอย่างแท้จริง”

“ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยโอซากะ เคียวอิกุ และศูนย์ส่งเสริมความปลอดภัยในโรงเรียนแห่งชาติ (NCSSP) เป็นต้นแบบระดับนานาชาติที่เชี่ยวชาญการบูรณาการประเด็น “ความปลอดภัย” เข้ากับระบบการเรียนรู้ และการพัฒนาพลเมือง ทั้งในด้านการป้องกันและรับมือภัยพิบัติ การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงเรียน ตลอดจนการฝึกอบรมครูและนักเรียนอย่างเป็นระบบ ความร่วมมือระหว่างสองประเทศในวันนี้ จึงเป็นการวางรากฐานความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร ระบบการเรียนรู้ เครื่องมือสนับสนุนครู และการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งสองประเทศในระยะยาว โอกาสนี้ ขอขอบคุณอาจารย์ฟูจิตะ ไดซูเกะ และคณะจากมหาวิทยาลัยโอซากะ เคียวอิกุ ที่ได้ให้เกียรติในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศไทยอย่างจริงจัง รวมถึงทีมงานของศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ทุกคนที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจผลักดันโครงการ นำไปสู่ความร่วมมือระดับสากลในวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้จะต่อยอดไปสู่การสร้างระบบการศึกษาที่มั่นคง มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนทั้งสองประเทศ อีกทั้งเป็นพลังสร้างแรงบันดาลใจ สร้างคุณค่าในการทำงาน และสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ สพฐ. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการอบรมผู้สนับสนุนโรงเรียนส่งเสริมความปลอดภัย (Safety Promotion School OBEC Teams) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2568 รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2568 เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานรับทราบแนวทางสำคัญในการยกระดับมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมความปลอดภัยให้เป็นไปตามหลักสากล และส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างยั่งยืน เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญในการพัฒนาเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ไม่เพียงเน้นในด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในทุกมิติด้วย สำหรับโครงการ “โรงเรียนส่งเสริมความปลอดภัย” (Safety Promotion School: SPS) ยึดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ การช่วยเหลือตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งแนวทางดังกล่าวครอบคลุมการป้องกันภัย 4 กลุ่มหลักที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียน ได้แก่ 1. ภัยจากการใช้ความรุนแรง ของมนุษย์ (Violence) 2. ภัยจากอุบัติเหตุ (Accident) 3. ภัยจากการถูกละเมิดสิทธิ์ (Right) และ 4. ภัยจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ (Unhealthiness) เพื่อให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” สามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยในสังคมปัจจุบัน

Loading