
วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีรับรายงานตัวและปฐมนิเทศข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามกระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2568 ทั้งในพื้นที่ปกติและพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยมี นางนัยนา ตันเจริญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ
.
นายธีร์ ภวังคนันท์ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า นโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568–2569 ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งได้รับการผลักดันโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” พร้อมแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่เน้นการขับเคลื่อนการศึกษาอย่างเท่าเทียม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทันสมัยและทัดเทียมมาตรฐานสากล สู่เป้าหมายการพัฒนาคนไทยให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และสามารถสร้างสังคมไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมด้วยนโยบายสำคัญของ สพฐ. ภายใต้การนำของว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการลดภาระงานของครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
.
“ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับทุกท่านที่ผ่านการคัดเลือก และกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการครู ซึ่งถือเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ และมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ มุ่งมั่น เต็มกำลังความสามารถ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของความเป็นครู มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมยึดมั่นในจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ การคัดเลือกครูผู้ช่วยในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพื้นที่ปกติ มีผู้สมัคร 1,746 ราย มีสิทธิสอบ 1,744 ราย ผ่านการคัดเลือก 1,239 ราย และมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง 352 ราย ใน 33 กลุ่มวิชาเอก และกลุ่มพื้นที่ จชต. มีผู้สมัคร 92 ราย มีสิทธิสอบ 92 ราย ผ่านการคัดเลือก 60 ราย และมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง 22 ราย ใน 17 กลุ่มวิชาเอก รวมทั้งสิ้นมีผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วยจำนวน 374 ราย โดยได้มีการรายงานตัวเพื่อเลือกสถานศึกษาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่ ภาคเช้าจำนวน 187 ราย (พื้นที่ปกติ 18 วิชาเอก) และภาคบ่ายจำนวน 187 ราย (พื้นที่ปกติ 165 ราย จาก 15 วิชาเอก และพื้นที่ จชต. 22 ราย จาก 17 วิชาเอก)





















