
วันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 20/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะการรวบรวมข้อมูลผลงานเด่น ในรอบ 1 ปี 6 เดือน จากการดำเนินงานของสำนักต่างๆ ของ สพฐ. เพื่อรายงานต่อพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลงสู่นักเรียนและครูในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผลงานเด่นที่สำคัญ อาทิ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยการจัดทำคำสั่งมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้ดำเนินการแทนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 60 คน พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีความประสงค์ให้ สพท. เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุแทน จำนวน 888 แห่ง รวมถึงได้มีการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการจัดซื้อฯ แทนโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่ สพท. 196 เขตด้วย
.
ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา จากข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 พบว่า มีครูที่ลงทะเบียนแก้หนี้ รวม 7,762 ราย ได้รับการแก้ไขสำเร็จแล้ว 1,679 ราย พร้อมทั้งมีการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ผ่านการอบรม E-learning Money Coach ซึ่งประกอบด้วย 4 หน่วยการเรียนรู้หลัก ได้แก่ การรู้จักรายรับรายจ่าย การบริหารหนี้สินและการออม การวางแผนทางการเงินส่วบุคคล และการป้องกันพฤติกรรมก่อหนี้ในอนาคต พบว่า มีจำนวนผู้เข้าอบรม 135,513 ราย ผ่านการอบรมแล้ว 101,332 ราย และอยู่ระหว่างการอบรม 33,234 ราย และยังมีหลักสูตร Money Coach สำหรับครูอายุ 55 ปีขึ้นไป เพื่อการเตรียมพร้อมก่อนเกษียณ และ Money Coach สำหรับนักเรียน เสริมความฉลาดรู้ทางการเงินด้วย Board Game อีกด้วย
.
ด้านการขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” เริ่มจากมาตรการที่ 1 เชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษา เด็กตกหล่น ผ่านระบบสารสนเทศ Thailand Zero Dropout โดย สพฐ. ได้สำรวจพบเด็กตกหล่นในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 616,625 คน สำรวจพบตัว 195,432 คน สามารถพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ 54,692 คน คิดเป็น 27.99% (ของเด็กตกหล่นที่พบตัว) และนำการเรียนไปให้น้อง 2,384 คน คิดเป็น 1.17% (ของเด็กตกหล่นที่พบตัว) ด้วยตัวเลขดังกล่าว สพฐ. จึงได้พัฒนาโมเดล “ตำบลต้นแบบ” ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมในการสำรวจพบเด็กตกหล่นและนำการเรียนไปให้น้อง 100% ซึ่งปัจจุบันเข้าร่วมแล้ว 25 ตำบล ส่วนมาตรการที่ 2-3 คือการช่วยเหลือเด็กนอกระบบ เด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น อาทิ โมเดล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งมีสถานศึกษานำร่อง จำนวน 939 โรงเรียน ครอบคลุมทุกจังหวัด, โมเดลโรงเรียนเคลื่อนที่ (Mobile School) ที่นำเทคโลยีทางการศึกษามาพัฒนาให้เกิดการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา, หุ้นส่วนการศึกษา โดยศูนย์การเรียน มาตรา 12 ที่ทำงานร่วมกับตำบลต้นแบบ ทำให้ทุกคนเป็นครูของเด็กนอกระบบได้ มีเครือข่ายมาช่วยโรงเรียนของรัฐจัดการศึกษาได้อย่างหลากหลาย และ Learn to Earn เรียนและมีรายได้ ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากการทำงานจริง เป็นต้น
.
ในด้านการเสริมสร้างความสุขและความปลอดภัยของสถานศึกษา มีโครงการ “สุขาดี มีความสุข” ที่ให้นักเรียนได้มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ มีความสะอาด ปลอดภัย เพียงพอต่อการใช้สอย สามารถปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักการใช้ บำรุง ดูแลและรักษาห้องน้ำอย่างถูกวิธี เสริมสร้างความปลอดภัยต่อสุขอนามัยที่ดีของนักเรียน ซึ่งโรงเรียนและ สพท. ทุกแห่งสามารถขับเคลื่อนได้ครบ 100% โดยโรงเรียนจำนวน 2,328 โรงเรียน ใน 238 เขตพื้นที่การศึกษา ได้รับงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 212 ล้านบาท เพื่อนำไปซ่อมแซมห้องน้ำ ห้องส้วม และมีผลการประเมินผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด 100% ปัจจุบันมีโรงเรียนรวม 6,319 โรงเรียน ใน 245 เขตพื้นที่การศึกษา เป็นโรงเรียนต้นแบบ “สุขาดี มีความสุข” รวมถึงมี สพท. และโรงเรียน มี Model การดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จสู่ความยั่งยืน และนำเสนอนวัตกรรม
การจัดการห้องน้ำ ห้องส้วม จำนวนกว่า 14,000 รายการ
.
นอกจากนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและ AI มาช่วยในการจัดการเรียนรู้แล้วในหลายกิจกรรม ตามที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Generative AI เข้ามาสนับสนุนการยกระดับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ อาทิ 1) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากโรงเรียนในสังกัด สพม. ทั่วประเทศ 2) โครงการอบรมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อออกแบบการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ มีศึกษานิเทศก์ และครูสังกัด สพฐ. จาก 245 เขตพื้นที่ ได้รับการอบรมแล้วกว่า 1,107 คน 3) โครงการโรงเรียนอุ่นใจปลอดภัยไซเบอร์ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครู บุคลากร และนักเรียน ชั้น ป.4 – ม.6 ทั่วประเทศกว่า 1.2 แสนคน 4) โครงการอบรมออนไลน์การพัฒนาสมรรถนะดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย (Webinar AI 12 หลักสูตร) ซึ่งมีครูและบุคลากรฯ ผ่านการอบรมแล้วกว่า 7.6 แสนคน เป็นต้น
.
“สพฐ. มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ลงสู่นักเรียนและครูในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดสมรรถนะ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อยกระดับการศึกษาของชาติ สร้างคุณภาพให้เกิดกับผู้เรียนและครู อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และเสริมศักยภาพของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว




















