
วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 24/2568 โดยเน้นย้ำข้อสั่งการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับเรื่องแรกในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการชุดใหม่ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ พวกเราชาว สพฐ. ทั้งส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต และสถานศึกษาอีกกว่า 2.9 หมื่นโรง ขอยินดีต้อนรับและเชื่อมั่นในผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน ว่าจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สพฐ. พร้อมรับนโยบายเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยไปสู่มาตรฐานสากล สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ ให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป
.
เรื่องต่อมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 นี้ จะมีการจัดงานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อ สพฐ. และได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านร่วมงาน จึงขอเชิญชวนผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงผลงานที่ผ่านมา และร่วมกันออกแบบอนาคตการศึกษาไทยต่อไป จากนั้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 สพฐ. จะเริ่ม Kick-off การใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของ สพฐ. อย่างเป็นทางการ ในชื่อระบบสำนักงานดิจิทัล OBEC-DO (OBEC Digital Office) โดยทุกสำนักของ สพฐ. จะใช้ระบบดิจิทัลในการรับ-ส่งงาน เสนองาน ลงนามเอกสารต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เพื่อลดการใช้กระดาษ เพิ่มความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ยกเว้นเอกสารที่จำเป็นยังคงใช้กระดาษตามเหมาะสม
.
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ สพฐ. ขอแสดงความห่วงใยต่อโรงเรียนในพื้นที่ชายแดน 7 จังหวัด พร้อมดำเนินมาตรการดูแลความปลอดภัย โดยได้มอบหมายให้สำนักอำนวยการจัดทำแผนเผชิญเหตุ แผนอพยพ และแผนป้องกันภัย แก่โรงเรียนในพื้นที่ มีการจัดระดับความเสี่ยงเป็นสี คือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่สีแดง ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนและมีความเสี่ยงสูงจำนวน 239 แห่ง ได้มีการเตรียมความพร้อม ซักซ้อมแผน และจัดสร้างหลุมหลบภัยที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร สพฐ. ขอยืนยันความพร้อมรับมือเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครูและบุคลากรทุกคน
.
“ในโอกาสครบรอบ 22 ปี ก้าวสู่ปีที่ 23 ของ สพฐ. ขอเน้นย้ำแนวทางการทำงานเชิงรุกและมุ่งเป้าสู่การพัฒนานักเรียนเป็นหลัก พร้อมเดินหน้า “ลดภาระครู คืนเวลาสอนให้ครู คืนเวลาเรียนให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ” โดยมอบหมายให้สำนักติดตามและประเมินผลฯ และสำนักนโยบายและแผนฯ รวบรวมรายการภาระงานของโรงเรียนทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและคัดกรองงานที่สามารถลดหรือยกเลิกได้ เหลือเฉพาะสิ่งจำเป็นอย่างแท้จริง เป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยการให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น และสามารถทุ่มเทให้กับห้องเรียนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนมารบกวนให้ได้มากที่สุด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว





















