สพฐ. แจงมาตรการความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน หยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุให้เป็น “ศูนย์”

วันที่ 26 มีนาคม 2568 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีสภาผู้บริโภค : หยุดความสูญเสียของเด็กจากรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย ทำอย่างไรให้อุบัติเหตุเป็น “ศูนย์” ซึ่งจัดโดยสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยร่วมกัน และเพื่อผลักดันข้อเสนอนโยบายและมาตรการที่จะนำไปสู่การลดอุบัติเหตุจากการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนและการพัฒนาการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ประธานและกรรมการแผนร่วมทุนฯ อนุกรรมการด้านขนส่งและพาหนะ สภาผู้บริโภค อนุกรรมการด้านศึกษา สภาผู้บริโภค และผู้แทนจากโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วม

.

นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวตอนหนึ่งในการประชุม ว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้ประกาศนโยบายกำหนดให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งในประเด็นการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ได้กำหนดการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมให้มีกระบวนการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เรียน และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ก็ได้กำหนดเรื่องการเสริมสร้างความปลอดภัยของสถานศึกษา เป็นหนึ่งในนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในปี 2568 – 2569

.

นายธีร์ กล่าวต่อไปว่า ในปีการศึกษา 2567 ที่ผ่านมา สพฐ. ได้กำชับมาตรการความปลอดภัยของการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งมีหลักการ 3 ป คือ 1.ป้องกัน 2.ปลูกฝัง และ 3.ปราบปราม ช่วยเหลือและเยียวยา โดย การป้องกัน คือ 1. ให้สถานศึกษาประชุมซักซ้อมและออกแนวปฏิบัติกับผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และชุมชน เกี่ยวกับความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน 2.ให้สถานศึกษาและผู้ประกอบการตรวจสอบประวัติ ใบอนุญาตขับรถตรงตามประเภทของรถโดยสาร มีความรู้ ความชำนาญเส้นทาง มีความสุภาพเรียบร้อย ไม่ดื่มสุรา 3. ผู้ประกอบการและพนักงานขับรถ จัดหา/ตรวจสภาพรถให้มีความมั่นคง แข็งแรง พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย 4.จัดทำแผนการเดินทาง พร้อมทั้งศึกษาเส้นทางและจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง และ 5.ควรให้ผู้โดยสารและนักเรียนที่โดยสารทำประกันชีวิตด้วยความสมัครใจ

.

การปลูกฝัง คือ 1.สร้างความตระหนัก ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถและถนน ให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น 2. จัดกิจกรรมรณรงค์และการเรียนรู้การใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยสม่ำเสมอ ส่วนปราบปราม / ช่วยเหลือ/ เยียวยา ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.ปรับแผนเผชิญเหตุ กำหนดให้มีผู้อำนวยการเหตุการณ์ ผู้ประสานงาน ด้านต่าง ๆ กำหนดช่องทางการสื่อสารหลักและรอง และสมมติเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมซักซ้อมแผน 2.ตรวจสอบ และวิเคราะห์สาเหตุ เพื่อใช้ปรับแนวป้องกันเมื่อเกิดเหตุ 3.ประสาน ช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ 4.เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้รายงานผู้บังคับบัญชาทันที พร้อมทั้งติดตามและวางแผนสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

.

“สพฐ. ได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด เรื่องความปลอดภัยของนักเรียนในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน ในกรณีที่โรงเรียนจัดกิจกรรมในช่วงนี้ขอให้มีระบบการรับ-ส่งนักเรียนโดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองและโรงเรียนร่วมกัน พร้อมทั้งได้กำชับแนวปฏิบัติในการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา เช่น นักเรียนปฐมวัย ต้องมีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย ไม่ให้เดินทางคละกับนักเรียนช่วงชั้นอื่น และให้เลือกสถานที่ใกล้เคียงสถานศึกษา นักเรียนชั้น ป.1 – ป.3 ควรให้มีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย เลือกสถานที่ใกล้เคียงสถานศึกษา นักเรียนชั้น ป.4 – ป.6 และ ม.1 – ม.6 เลือกสถานที่ให้เหมาะสมกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามช่วงวัย และให้มีการตรวจสอบเอกสารใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์โดยสาร ห้ามใช้รถยนต์ที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยครบถ้วน เป็นต้น” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

Loading