
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และ Professor Richard Barker ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยโอทาโก (University of Otago) ประเทศนิวซีแลนด์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยโอทาโก ฉบับที่ 2 ณ มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีนายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ผู้แทนของมหาวิทยาลัยโอทาโก และผู้อำนวยการเครือข่ายสถานศึกษากลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เข้าร่วมพิธี
.
การลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้จะมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ รวมถึงการวิจัย และการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการระหว่างบุคลากรและนักเรียนของทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตามนโนยาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
.
ความร่วมมือดังกล่าวยังจะสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติตามหลักการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการฉบับแรกในปี พ.ศ. 2562 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามกรอบความร่วมมือจนถึงปี พ.ศ. 2567 ซึ่งได้มีการพัฒนาทักษะทางภาษาของบุคลากรเครือข่ายสถานศึกษากลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย อย่างหลากหลายและต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เช่น การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษสำหรับครูผู้สอน การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาสำหรับนักเรียน และการสัมมนาทางวิชาการ STEM Webinar เป็นต้น
.
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้จะยังคงส่งเสริมกิจกรรมที่ได้ดำเนินการร่วมมาให้มีความต่อเนื่องและขยายความร่วมมือไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา การสนับสนุนอาสาสมัครและที่ปรึกษาด้านภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนระหว่างกันให้เกิดผลลัพธ์การพัฒนาตามเป้าหมายและอุดมการณ์โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยและโรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือต่อไป






