สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568


วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ข้าราชการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ
.
ในการนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วยข้าราชการและบุคลากรของ สพฐ. ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ และร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
.
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานคำชี้แนะ และทรงมีพระราชวินิจฉัย แผนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน จากนั้นเมื่อจบการประชุม ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการ การเฝ้าระวังระดับไอโอดีนในปัสสาวะ โดยรูปแบบการตรวจสอบเป็นรอบ (Cyclic monitoring system) การขับเคลื่อนควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเครื่องมือช่วยคำนวณการเสริมไอโอดีนในผลิตภัณฑ์เกลือและผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีน จากนั้นฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงาน และเสด็จพระราชดำเนินกลับ
.
สำหรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 – 2570 มีวิสัยทัศน์ในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาพที่ดี โดยสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีน ซึ่งได้กำหนดค่าเป้าหมาย ดังนี้ 1) ประชากรไทยมีภาวะขาดสารไอโอดีนไม่เกินค่ามาตรการที่กำหนด 2) ชุมชนหมู่บ้าน เป็นชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน ร้อยละ 100 และ 3) ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ปรุงรสเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ร้อยละ 80

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการดำเนินงานการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ดังนี้

  1. มีการส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดใช้เกลือหรือเครื่องปรุงรสที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน ในการประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน โดยในระบบ Thai School Lunch จะมีการแนะนำเมนูอาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของสารไอโอดีนในการประกอบอาหาร รวมทั้งมีการคำนวณคุณค่าทางอาหารและปริมาณสารไอโอดีนที่เด็กนักเรียนได้รับในแต่ละวัน เพื่อเป็นฐานในการเลือกจัดเมนูอาหารในวันถัดไป
  2. มีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการนักเรียนไทยสุขภาพดี และโครงการลดหวาน มัน เค็ม เพื่อนักเรียนไทยสุขภาพดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยในมาตรฐานที่ 2 มาตรฐานด้านโภชนาการและอาหารที่ปลอดภัย ตัวชี้วัดที่ 2.8 โรงเรียนที่มีการใช้เครื่องปรุงรสเค็ม ให้ใช้เกลือและเครื่องปรุงรสที่เสริมไอโอดีนปรุงรสเท่านั้น
  3. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าด้วยการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเสริมสุขภาพ ในสถานศึกษา พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนมีการจัดบริการจำหน่าย จ่าย แจก อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเสริมสุขภาพให้กับนักเรียน

Loading