
วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 พุทธศักราช 2568) หลักสูตรใหม่ที่จะเริ่มนำร่องใช้ในสถานศึกษาที่มีความพร้อม ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2568 นี้ ได้ตัดเนื้อหาวิชาสังคมศึกษา (ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม) ออก และมีข้อกังวลว่าจะส่งผลให้นักเรียนไม่ได้รับความรู้ในเรื่องดังกล่าว นั้น
.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอชี้แจงว่าข้อสังเกตดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มอบหมายให้ สพฐ. จัดทำหลักสูตรดังกล่าวขึ้น ภายใต้แนวคิดการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนให้สามารถใช้ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่างๆ ในการแก้ปัญหาและการดำรงชีวิต มีเป้าหมายการพัฒนานักเรียน ประกอบด้วย ความสามารถพื้นฐานด้านการเรียนรู้ (Basic Literacy) และความสามารถในการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน (Functional Literacy) และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในส่วนของความสามารถพื้นฐานด้านการเรียนรู้ หมายถึง ความสามารถในการอ่าน (Reading) การเขียน (Writing) และการคิดคำนวณ (Numeracy) ในส่วนความสามารถด้านการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน 5 ด้าน ได้แก่ 1.วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี 2.สังคมและความเป็นพลเมือง 3.เศรษฐกิจและการเงิน 4. สุขภาพกายและจิต 5.ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อสุนทรียภาพ และในส่วนของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประกอบด้วย 1.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์สุจริต 3.มีวินัย 4.อยู่อย่างพอเพียง 5.มีจิตสาธารณะ ซึ่งการพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านต่างๆ เป็นองค์ประกอบในการพัฒนานักเรียน
.
กรณีของวิชาสังคมศึกษา (ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม) ถูกจัดเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับนำไปจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้านสังคมและความเป็นพลเมือง และศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อสุนทรียภาพ โดยใช้การอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ ในการจัดการเรียนรู้และจัดการกับข้อมูลต่างๆ ในหัวข้อเรื่อง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และสอดแทรกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านการรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่จะทำให้ผู้เรียนตระหนักรู้ถึงความเป็นไทยและภูมิใจในความเป็นชาติไทย อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย รอบด้านและครบถ้วน ไม่ได้ถูกตัดออกตามที่มีข้อกังวลแต่อย่างใด
.
“สพฐ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรประถมศึกษาตอนต้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ซึ่งในหลักสูตรใหม่นี้ ประเด็นที่สำคัญอย่างเรื่องภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ก็ยังคงมีอยู่ครบถ้วน ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าบุตรหลานจะได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีทักษะรอบด้าน ‘ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ’ พร้อมก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
