
วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุป อภิปราย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการติดตามเพื่อพัฒนาการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และการเตรียมการใช้ AI เพื่อรองรับการติดตามประเมินผลการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวาณิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสำนัก/หน่วยงานเทียบเท่า ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจาก สพฐ. เข้าร่วม ณ โรงแรมแกรนด์ราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า แนวทางสำคัญของการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ต้องไม่ใช่เพียงแค่การแปลงงานจากระบบกระดาษเป็นดิจิทัลเท่านั้น แต่ต้องเป็นการออกแบบระบบที่มีความฉลาดและยืดหยุ่น สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผลงานจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งสังเคราะห์แนวโน้ม เสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบาย และส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้แก่ผู้บริหาร เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในระดับกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ความสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ e–MES และการติดตามออนไลน์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการวางแผนในรอบ 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสกัดข้อมูลเพื่อตอบคำถามว่า เขตพื้นที่ใดมีจุดแข็ง โรงเรียนรูปแบบใดที่ควรต่อยอด และมีบทเรียนอย่างไรจากสิ่งที่ประสบความสำเร็จ หรือสิ่งที่ยังต้องปรับปรุง ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนและพัฒนาเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
.
“ภารกิจสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างมีส่วนร่วม โดยถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องใช้โอกาสนี้ในการระดมความคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์ตรงในพื้นที่ นำไปสู่ข้อเสนอที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางนโยบายการศึกษาในอนาคต ซึ่งนับเป็นเวทีสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติจริงในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรในระบบการศึกษาของ สพฐ. เตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านข้อมูล เทคโนโลยี และกระบวนการคิดเชิงนโยบาย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล และร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศต่อไป“ เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เพื่อสนับสนุนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2568–2569 ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ผ่านแนวทางการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยเฉพาะนโยบายข้อ 1.7 ที่ให้ความสำคัญกับการปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ซึ่ง สพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สตผ.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยมีกิจกรรมสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้ AI ในการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการศึกษา โดยมุ่งหวังให้สามารถนำมาใช้จริงและลดภาระงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อด้วยการสรุปผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน โดยเลือกกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากการรายงานผ่านระบบ e-MES และระบบติดตามออนไลน์ในพื้นที่เป้าหมาย 85 แห่ง เพื่อใช้เป็นต้นแบบและแนวทางในการขับเคลื่อนต่อในรอบ 12 เดือนข้างหน้า และปิดท้ายด้วยการอภิปรายกลุ่มเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเปิดพื้นที่ให้บุคลากรทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคได้มีส่วนร่วมเสนอแนวคิดและข้อเสนอแนะอย่างรอบด้าน
ดาวน์โหลดภาพกิจกรรม : https://photos.app.goo.gl/j2ZMLZ4ZPY15Tc5K6




























