
วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีรับตราพระราชทาน โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปีการศึกษา 2567 โดยมี คณะกรรมการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น วิทยากรหลัก วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น ผู้แทนโรงเรียนในโครงการ ผู้สนับสนุนโครงการ รวมกว่า 1,923 คน เข้าร่วมพิธี ณ ห้องแสงเดือน แสงเทียน ชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และเครือข่ายโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ซึ่งในแต่ละปีโรงเรียนในโครงการฯ จะได้รับการประเมินคุณภาพ
การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการฯ ตามเกณฑ์การประเมินเพื่อรับตราพระราชทาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” สำหรับนักเรียนระดับปฐมวัย ได้ทำกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ตามแนวทางของโครงการฯ อย่างน้อย 20 กิจกรรม/ปี/โรงเรียน และการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ อย่างน้อย 1 โครงงาน/ปี/โรงเรียน ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษา ได้ทำกิจกรรมแบบ Hands-On ตามแนวทางของโครงการฯ ไม่ต่ำกว่า 8 กิจกรรมต่อระดับชั้น และการสืบเสาะอิสระในแต่ละปีการศึกษา โดยในปีการศึกษา 2567 มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผ่านการประเมินรับตราพระราชทาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ระดับปฐมวัย จำนวน 4,815 โรงเรียน ระดับประถมศึกษา จำนวน 3,301 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 8,116 โรงเรียน
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทีมงานของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ทุกท่าน ที่ได้ดำเนินงานมาอย่างยอดเยี่ยมถึง 15 ปี และที่สำคัญเป็นโครงการที่พัฒนาตัวเองต่อเนื่องตลอดเวลา ขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารและคุณครูทุกท่าน ที่ได้นำแนวทางของโครงการไปจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนได้อย่างดีเยี่ยม จนผ่านการประเมิน และได้รับตราพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในวันนี้ ทราบดีว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ท่านต้องผ่านอะไรมามากมาย ทั้งต้องไปเรียนรู้ “วิธีการใหม่” จากโครงการฯ ผ่านการอบรม ต้องวางแผนต่อยอด และออกแบบต่อว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจะจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้อย่างไร การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและพัฒนาการคิดของนักเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้นักเรียนของเราคิดเป็นระบบ คิดเพื่อแก้ปัญหา ทั้งในห้องเรียน และสถานการณ์จริง
ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีผู้นำเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มีวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้าใจ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิทยากรหลักไปถ่ายทอดให้คุณครูในเครือข่ายได้ ในระดับเครือข่ายท้องถิ่นภาระงานก็มากเช่นกัน แต่ทุกท่านทำได้ดีจนโรงเรียนในเครือข่ายผ่านประเมิน จึงขอแสดงความยินดีด้วยอย่างยิ่งค่ะ
“ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านมุ่งผลักดันโครงการต่อไป ท่านที่ได้รับตราพระราชทานฯ วันนี้ ขอให้ท่านต่อยอด นำแนวคิดโครงการไปปรับเป็นบริบทท้องถิ่น จัดการเรียนรู้จากข้อสงสัยของเด็ก ๆ แล้วมาพบกันอีกครั้งในพิธีรับตราพระราชทานปีถัดไป สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ 8 ภาคีของโครงการ คือ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, กลุ่มบริษัท บี.กริม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และขอขอบคุณวิทยากรหลักทุกท่านที่ร่วมกันผลักดันโครงการเป็นอย่างดี สิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สําคัญที่สุดที่จะสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ทั้งชีวิต ให้พวกเขาเติบโตในโลกยุคใหม่อย่างมีคุณภาพต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว














