อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หน้าที่ตามกฎหมาย :

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีพันธกิจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) จัดทำข้อเสนอ นโยบาย แผนพัฒนาการศึกษา มาตรฐานการจัดการศึกษา และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

2) กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และดำเนินการเกี่ยวกับการสนับสนุนทรัพยากร การจัดตั้ง จัดสรรทรัพยากร และบริหารงบประมาณอุดหนุนการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

3) พัฒนาระบบการบริหารและส่งเสริม ประสานงานเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ การนำ เทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน รวมทั้งส่งเสริมการนิเทศ การบริหารและการจัดการศึกษา

4) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเขตพื้นที่การศึกษา

5) พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการจัดการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาเพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้มีความสามารถพิเศษ และประสาน ส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่นของเขตพื้นที่การศึกษา

6) ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

7) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ “สร้างคุณภาพผู้เรียน สู่สังคมอนาคตอย่างยั่งยืน” (ผู้เรียนมีความรู้และสมรรถนะที่จำเป็น มีความสุข และมีเป้าหมาย ได้รับการพัฒนา อย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ)

พันธกิจ

1. จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

2. พัฒนาสถานศึกษาให้มีความปลอดภัยแก่ผู้เรียน

3. ส่งเสริมความเป็นเลิศของผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน

4. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามหลักสูตรและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

5. สร้างโอกาส ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ผู้เรียนทุกคนได้รับบริการ ทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

6. พัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความเชี่ยวชาญในการจัดการศึกษา ที่ตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศ

7. จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง

8. พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาทุกระดับและจัดการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  

ผลสัมฤทธิ์

1. ผู้เรียนมีภูมิคุ้มกัน พร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทุกรูปแบบ รู้เท่าทันสื่อ และเทคโนโลยี ในการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ และชีวิตวิถีถัดไปและได้รับการศึกษาในสถานศึกษา ที่มีความปลอดภัย

2. ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รับการบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง เสมอภาค และเท่าเทียม

3. ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีสมรรถนะ ที่เหมาะสมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามช่วงวัย รวมถึงได้รับการส่งเสริมความเป็นเลิศเต็มตามศักยภาพ

4. หน่วยงานและสถานศึกษาได้รับการพัฒนาระบบบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่

กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความปลอดภัยจากภัยทุกรูปแบบ ประกอบด้วยเป้าหมายจำนวน 3 ข้อ ตัวชี้วัดจำนวน 4 ข้อ และแนวทางการพัฒนาจำนวน 6 ข้อ

กลยุทธ์ที่ 2 สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชากรวัยเรียนทุกคน ประกอบด้วยเป้าหมายจำนวน 5 ข้อ ตัวชี้วัดจำนวน 4 ข้อ และแนวทางการพัฒนาจำนวน 14 ข้อ

กลยุทธ์ที่ 3 ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยเป้าหมายจำนวน 6 ข้อ ตัวชี้วัดจำนวน 10 ข้อ และแนวทางการพัฒนาจำนวน 21 ข้อ

กลยุทธ์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา ประกอบด้วยเป้าหมายจำนวน 7 ข้อ ตัวชี้วัดจำนวน 6 ข้อ และแนวทางการพัฒนาจำนวน 23 ข้อ

ค่านิยม (OBEC) :

เป็นองค์กรที่มีชีวิต พร้อมจิตเอื้ออาทร อาภรณ์คือความขยัน ใจยึดมั่นหลักยุติธรรม

O – Organic “เป็นองค์กรที่มีชีวิต” หมายถึง ผู้บริหาร และบุคลากรในสังกัด มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่เสมอ มุ่งสู่เป้าหมายขององค์กร มีการสื่อสารที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์

B – Benevolence “พร้อมจิตเอื้ออาทร” หมายถึง ผู้บริหาร และบุคลากรในสังกัด มีความเต็มใจ เอาใจใส่ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นความเสมอภาค

E – Eagerness “มีอาภรณ์คือความขยัน” หมายถึง ผู้บริหาร และบุคลากรในสังกัด มีความมุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะ ปฏิบัติงานตามได้รับมอบหมายด้วยความเข้มแข็ง ไม่ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ มีความกระตือรือร้น ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้และเทียบเคียง (Benchmarking)

C – Compliance “ใจยึดมั่นหลักยุติธรรม” หมายถึง บุคลากรในสังกัด ปฏิบัติงานด้วยความเป็นธรรม มีความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ชอบด้วยเหตุและผล ความเสมอภาคในทุกประเภท มีความรับผิดชอบร่วมกัน ตรวจสอบได้

สมรรถนะหลัก :

1. จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกกลุ่มเป้าหมาย (ผู้รับบริการ) ทุกพื้นที่

2. ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพได้มาตรฐานทุกกลุ่มเป้าหมายทุกพื้นที่

3. จัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และส่งเสริมให้

สถานศึกษาในสังกัดนำไปใช้หลากหลายรูปแบบ

4. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ

5. จัดระบบติดตามและประเมินผล ควบคุมมาตรฐานการศึกษา การประกันคุณภาพสถานศึกษา

กฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการ