วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าว เรื่อง “ธนาคารหน่วยกิต โอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคน” โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมแถลงข่าว ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคน โดยมุ่งเน้นการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ซึ่งประกาศฉบับนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอาชีวศึกษาของประเทศไทยสู่การปฏิบัติ และผลักดันไปสู่การดำเนินงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน และประชาชนได้นำผลการเรียน ผลลัพธ์การเรียนรู้ ทักษะจากการทำงานหรือทักษะเฉพาะ มาเทียบโอนสะสม และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มคุณวุฒิการทำงานและการศึกษาต่อ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจของตนเอง เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้และการฝึกอบรมใหม่ได้ตลอดเวลา โดยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
.
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ธนาคารหน่วยกิต คือ ระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสะสมหน่วยกิตจากผลการเรียน การฝึกอบรม ประสบการณ์ หรือทักษะ นำไปใช้ต่อยอดในการศึกษาต่อ การเพิ่มคุณวุฒิ หรือการพัฒนาทักษะความสามารถของตน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ดังนี้ 1) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำกัดวัย และคุณวุฒิ การเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเข้าด้วยกัน 2) สนับสนุนการสะสมหน่วยกิต ทำให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากแหล่งต่างๆ เช่น การศึกษา การฝึกอบรม ประสบการณ์ หรือทักษะ โดยไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาในการสะสม และระยะเวลาในการศึกษา รวมทั้งสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถานศึกษาได้ และ 3) พัฒนาระบบการศึกษา โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาระบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ช่วยให้นักเรียน นักศึกษา ได้พัฒนาทักษะ เพิ่มคุณวุฒิ เพื่อสำเร็จการศึกษาหรือการทำงาน ลดเวลาการศึกษาในระบบสำหรับผู้เรียนที่มีความชำนาญอยู่แล้วให้ไปเรียนวิชาที่มีความสนใจเพิ่มเติม หรือใช้ร่นระยะเวลาในการเรียน และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
.
“จะเห็นได้ว่า ธนาคารหน่วยกิต มุ่งหวังสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กว้างขวาง ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง การศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับตัวที่จะสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว ซึ่งเป็นยุคที่ต้องเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (anywhere anytime) ธนาคารหน่วยกิต จะเป็นส่วนช่วยพัฒนาการศึกษาที่สำคัญ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้นำผลการเรียนหรือผลลัพธ์การเรียนรู้มาเทียบโอนสะสม และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มคุณวุฒิการทำงานและการศึกษาต่อ ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงได้ผนึกกำลังขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จภายใต้แนวทางจับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนทุกคน” รมว.ศธ. กล่าว
.
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้บูรณาการการทำงานขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิต โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการจัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษาของประเทศไทยสู่การปฏิบัติและผลักดันไปสู่การดำเนินงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน ต่อจากนี้ หน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ตามระดับการศึกษาและรูปแบบการศึกษา ดังนี้
1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รูปแบบการศึกษาในระบบ
2. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
3. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต การอาชีวศึกษา รูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี
4. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ส่งเสริม การทำความร่วมมือกับหน่วยงาน จัดทำหลักสูตรโรงเรียนนอกระบบ หลักสูตรระยะสั้น เพื่อการสะสมและใช้ในระบบธนาคารหน่วยกิต รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
โดยประกาศทั้ง 4 ฉบับนี้ จะออกภายในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 นี้
.
ในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังมุ่งเน้นถึงความต้องการของผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ที่ต้องการลดเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นการดำเนินงานที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ ทักษะ และมีความเป็นเลิศทางปัญญาให้สามารถเข้ารับการทดสอบและประเมินวัดระดับเพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้จัดทำ โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป
- สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. จับมือ สเปเชียลโอลิมปิคไทย ร่วมพัฒนาศักยภาพนักเรียนผู้พิการทางสติปัญญา 9 โครงการทั่วประเทศไทย - 29 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ประชุมผู้บริหารระดับสูง เดินหน้าหลักสูตรใหม่ ตามมติบอร์ด กพฐ. พร้อมคืบหน้าการปรับเกณฑ์ย้าย-บรรจุครู - 28 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดราชโอรสาราม - 26 ตุลาคม 2024