สพป.กระบี่ ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการใช้ New DLTV

เมื่อวันที่  17 สิงหาคม  2562 ที่ห้องประชุมโรงแรมกระบี่มาริไทม์ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมืองกระบี่ นายไพโรจน์ บุตรแขก ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการพัฒนาศักยภาพการใช้ New DLTV ให้กับ ผู้บริหารโรงเรียน พร้อมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จาก 87 โรงเรียน จำนวน 266 โดย ดร.สารินี ชนาพงษ์จารุ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย  DLTV สพฐ.  ดร.ภูมิ  พระรักษา  ผู้อำนวยการโรงเรียนทรัพย์เจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2 คณะกรรมการนิเทศ DLTV สพฐ. และคณะ ร่วมเป็นวิทยากร

ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติพัฒนาศักยภาพการใช้ New DLTV  พัฒนาต่อยอดมาจากการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย ได้แก่ โรงเรียนที่มีครูสอนไม่ครบชั้น โรงเรียนที่มีครูสอนไม่ตรงเอกที่ตนเองได้เรียนมา    โดยได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญาณภาพให้คมชัดมากขึ้นจาก SD (Standard Definition) เป็น HD (High-Definition) เพิ่มช่องทางออกอากาศ นอกเหนือจากสัญญาณดาวเทียม ทำให้สามารถรับชมย้อนหลังผ่านเว็บไซต์ www.dltv.ac.th และแอปพลิเคชั่น DLTV ได้ มีการขยายฐานเวลาออกอากาศนอกเหนือจากเวลาเรียน พร้อมทั้งออกอากาศการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมในระดับปฐมวัย ปรับปรุงห้องเรียนต้นทางให้ทันสมัยโดยมุ่งเน้นให้สื่อสารไปยังโรงเรียนปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาเทคนิคการสอนและสื่อการเรียนการสอนของครูต้นทางทุกระดับ พัฒนาโรงเรียนปลายทางให้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ในโรงเรียนเป้าหมาย ในปี 2562  มีการซ่อมบำรุงเครือข่ายในระบบใหม่โดยจัดให้มีหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือในการซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ ครูสามารถดูเนื้อหาการสอนล่วงหน้าได้ 3 วัน อีกทั้งมีการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนนำร่องเพื่อการศึกษาทางไกลแบบ 2 ทาง คือ มีโรงเรียนต้นทาง 1 โรงเรียน เป็นแม่ข่าย และมีโรงเรียนปลายทาง 3 โรงเรียน เป็นลูกข่าย โดยจัดให้เรียนพร้อมกัน ตอบโต้กัน เสมือนได้เรียนสื่อในห้องเรียนเดียวกัน ซึ่งได้รับต้นแบบมาจากการจัดการเรียนการสอนตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา โดยทางมูลนิธิฯ ได้พัฒนาเครือข่ายนำร่อง จำนวน 5 เครือข่าย ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 20 โรงเรียน และมีการดำเนินการเรียนการสอนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเริ่มที่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 รวมถึงในอนาคตจะมีการจัดทำรายการเพื่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์สำหรับเยาวชนไทย ประมาณ 65 ตอน โดยจะมีคณะกรรมการในการจัดทำเพื่อคัดสรรว่าควรจะมีเรื่องอะไรบ้างที่จะสื่อสารให้กับเด็กในแต่ละวัย ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อพัฒนาบ้านเมืองด้วยการศึกษาต่อไป