การจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ กลุ่มโรงเรียนลำปลายมาศ ๓

กลุ่มโรงเรียนลำปลายมาศ ๓ สังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ จัดอบรมปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพครูการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Teaching Computing Science) เพื่อให้ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) มีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด สามารถออกแบบการเรียนรู้และประเมินผู้เรียนสำหรับการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ กลุ่มโรงเรียนลำปลายมาศ ๓ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ นำโดย นายมงคล แวงวรรณ ประธานกลุ่มฯ ได้จัดอบรมปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพครูการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Teaching Computing Science) เพื่อพัฒนาครูผู้สอน ให้มีความรู้ความเข้าใจมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๖๐) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ และสามารถจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา         เตรียมแผนการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดประเมินผล นำไปใช้ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ ตามนโยบายที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด เพื่อให้ครูต้นแบบ  (Master Teacher) สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ขยายผลการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณไปสู่ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณ ในกลุ่มโรงเรียน ลำปลายมาศ ๓  ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาการเรียนการสอนสาระที่ ๔ เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ)  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต ๑  วิทยากรผู้ให้ความรู้ นางจุติมาพร  เชียงกา นางมณีรัตน์  เถื่อนแก้ว ศึกษานิเทศก์ สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ และคณะครูจากกลุ่มโรงเรียนลำปลายมาศ ๓

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ให้ใช้ทุกชั้นปีในปีการศึกษา ๒๕๖๓ นั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต ๑ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสาระที่ ๔ เทคโนโลยี โดยเนื้อหาเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ แนวคิดเชิงคำนวณเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ประยุกต์ใช้ความรู้ ด้านวิทยาการคำนวณและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารอย่างปลอดภัยและมีจริยธรรม

ดังนั้น ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด สามารถออกแบบการเรียนรู้และประเมินผู้เรียนสำหรับการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมกันสร้างเครือข่ายครูผู้สอนวิทยาการคำนวณให้บรรลุตามเป้าประสงค์ของหลักสูตร อันจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอย่างแท้จริง