สพฐ. ร่วมเสวนา เรื่อง “สังคมไทยอยากได้ครูแบบไหน” งาน 75 ปี: จดหมายเหตุ “ทวี บุณยเกตุ” กับครูไทย

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมเป็นวิทยากรเสวนา เรื่อง “สังคมไทยอยากได้ครูแบบไหน” โดยมี รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะคุรุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทย นางณัชตา ธรรมธนาคม ครูวิทยฐานะเชี่ยวชาญ รร.ศูนย์รวมน้ำใจ เขตคลองเตย นายอัษดิน เจริญชาติ นายกสมาคมผู้ปกครองและครู รร.มัธยมวัดนายโรง ร่วมเสวนา พร้อมด้วย รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ในงาน 75 ปี: จดหมายเหตุ “ทวี บุณยเกตุ” กับครูไทย ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ ชั้น 1 อาคารหอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

กรอบการเสวนา เรื่อง “สังคมไทยอยากได้ครูแบบไหน” เกิดจากประเด็นความคิดที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พลิกผันและไม่แน่นอนส่งผลให้สังคมไทยมีความคาดหวังต่อครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ซึ่งต้องทำหน้าที่พัฒนาเยาวชนของชาติให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถปรับตัวได้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ในขณะเดียวกันยังสามารถดำรงไว้ซึ่งคุณค่าและเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ดีงาม ดังคำกล่าวที่ว่า “Think Globally Act Locally” ซึ่งเป็นความท้าทายของการศึกษาไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาดังเช่นในปัจจุบัน สังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยอาจมีความคาดหวังต่อคุณลักษณะของครูที่ดีแตกต่างกันไปตามบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคม มาตรฐานการศึกษาชาติ พ.ศ.2561 ได้กำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของผู้เรียน 3 ด้านคือเป็น ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และมีค่านิยมร่วมคือ ความเพียรอันบริสุทธิ์ ความพอเพียง วิถีประชาธิปไตย ความเท่าเทียมและเสมอภาค

ดังนั้นครูไทยที่สังคมต้องการควรเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถผลิตผู้เรียนได้ตามผลลัพธ์ที่คาดหวัง การรับฟังมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับครูทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายใช้ ฝ่ายผู้รับบริการ และแม้แต่ผู้ที่เป็นครูเองจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณลักษณะของครูไทยที่สังคมต้องการอย่างรอบด้าน และนำสู่การพัฒนาครูไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้มากที่สุด แม้ว่าการพัฒนา คือ การมองไปข้างหน้าและปรับเปลี่ยนสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้สอดรับกับความต้องการของสังคมในอนาคต การเรียนรู้จากคุณค่าคำสอนของบรรพบุรุษในอดีต ดังเช่น คำสอนที่ว่า “การศึกษาของชาติหาได้อยู่ที่มีโครงการดีเท่านั้นไม่แต่ต้องมีครูดีด้วย…ดีที่ความสามารถในการสอนวิชาการและการอบรมจิตใจ” ของท่านทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 5 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ก่อตั้งคุรุสภา น่าจะสามารถช่วยให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสะท้อนความคิดเกี่ยวกับ “ครูไทยที่สังคมต้องการ” อย่างมีสติและเข้าใจในความเป็นตัวของตนเองได้

โดยได้มีการตั้ง คำถามหลัก 2 ประเด็น ได้แก่ “ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน คุณลักษณะของครูไทยที่สังคมต้องการเป็นอย่างไร” และ “คุณค่าคำสอนของความเป็นครูไทยที่ดีในอดีตสามารถนำสู่การสร้างคุณค่าของครูไทยที่ดีในอนาคตที่สังคมต้องการได้อย่างไร” เพื่อให้วิทยากรที่ร่วมเสวนา ทั้ง 4 ท่าน ร่วมตอบคำถามแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมอง พร้อมนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาการดำเนินงานด้านการศึกษาของประเทศต่อไป