สพฐ. อบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ การนำเข้าข้อมูลระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ระดับภูมิภาค

วันที่ 14 มกราคม 2564 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่ออบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ วิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างโครงการยุทธศาสตร์และแผนระดับรอง และการนำเข้าข้อมูลระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ระดับภูมิภาค โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับชมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้องประชุม DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมอบรมในครั้งนี้ สพฐ. ต้องการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติทั่วประเทศ ในเรื่องของนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อน รวมถึงความสอดคล้องของโครงการกิจกรรมกับยุทธศาสตร์แผนแม่บทซึ่งต้องตอบโจทย์ให้เห็นถึงปริมาณเชิงคุณภาพตามมาตรฐานตัวชี้วัดได้ โดยอบรมให้ความรู้ในสามประเด็นหลักคือ 1. การรายงานข้อมูลในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) มีความสำคัญอย่างไร รายงานอย่างไร และได้ประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้อย่างไร 2. เรื่องที่จำเป็นต้องทราบหรือรับรู้ อาทิ การวิเคราะห์ความเชื่อมโยง การเขียนโครงการตั้งแต่เริ่มต้น การนำเข้าข้อมูลในระบบ (eMENSCR) เป็นต้น และ 3. ทิศทางหรือแนวทางในการติดตามประเมินผลของ สพฐ. ในปี 2564-2565 ซึ่งได้เชิญวิทยากรจากกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาให้ความรู้ในเรื่องของระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณจากสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อภาคประชาชน

ทั้งนี้ ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ตามระยะเวลาและรายการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด โดยระเบียบว่าด้วยการติดตามตรวจสอบและประเมินผล การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้การรายงานดังกล่าวจัดทำผ่านระบบสารสนเทศเป็นหลัก สำนักงานฯ จึงได้จัดทำระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานของรัฐใช้รายงานผลการดำเนินการตามแผนระดับต่างๆ ของประเทศ ซึ่ง”หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย” ทั้งในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือในรูปแบบอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานฯ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่จะต้องใช้งานระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยข้อมูลที่หน่วยงานรัฐจะต้องนำเข้าระบบ eMENSCR ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ การนำเข้าข้อมูลโครงการหรือการดำเนินงาน และการนำเข้าแผนระดับ 3 อาทิ แผนปฏิบัติการด้านต่างๆ และแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงาน เป็นต้น