+++ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขับเคลื่อนแก้ปัญหา++ //ความเหลื่อมล้ำของเด็กจบ ม.3 หลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน//

^^^  วันนี้  นายสุภาพ  กาวิ  รองผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 1  รักษาราชการแทนผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 1  ให้เกียรติร่วมประชุมหารือแก้ปัญหาและลงนามความร่วมมือโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ  โดยดร.พุฒชาด จันทร์ดำ  รองผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 1  ได้ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าวด้วย+++ธีรธิดา  พรหมมาแบน  และนรินทร์ ไชยวงศ์  ภาพ/ข่าว++++++++

// ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งจัดโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับแล้วจำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเหตุจากฐานะครอบครัวยากจน พร้อมหนุนและตั้งเป้าสร้างแรงงานฝีมือ รวมถึงขยายโอกาสการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เริ่มนำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นแห่งแรก  พร้อมจัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแม่ฮ่องสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 สำนักงานจัดหางานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า  พบสถิติของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบ่งชี้ว่าในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมามีนักเรียนกว่าแสนรายทั่วประเทศไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนนับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสัดส่วนนักเรียนที่สูญเสียโอกาสในการเรียนต่อและต้องหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดฝีมือแรงงานสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ เนื่องจากจำเป็นต้องสร้างรายได้และหาเลี้ยงครอบครัว บางรายได้ค่าจ้างเพียงอัตราขั้นต่ำหรือน้อยกว่าซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อาจเกิดผลกระทบอย่างอื่นตามมา อีกทั้งความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงความสลับซับซ้อนของสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ก็นับว่าเป็นข้อจำกัดสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตได้เหมือนกัน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งนับวันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เพื่อช่วยลดภาระและเกิดโมเดลในการแก้ไขปัญหานี้ของหน่วยงานรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางที่ประสานและบูรณาการความร่วมมือให้หน่วยงานรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยการเสนอแนะและกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติ เน้นให้มีการจัดหลักสูตรอบรมเพิ่มทักษะด้านอาชีพและพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น อบรมช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า อบรมช่างเครื่องกล อบรมช่างก่อสร้าง หรือ อื่น ๆ ต่อเนื่องอีกประมาณ 4 เดือน ให้แก่นักเรียนหลังจบการศึกษาภาคบังคับและก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน คุณภาพชีวิตก็จะเปลี่ยนไปเป็น “แรงงานฝีมือ” สร้างรายได้และความมั่นคงในอาชีพต่อไป

สำหรับกรอบการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนั้นมี 4 ขั้นตอน  1) จังหวัดแม่ฮ่องสอนและสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจนักเรียนที่มีครอบครัวฐานะยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในปีการศึกษา 2561  2) จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน สถานศึกษาอาชีวะศึกษา และหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการฝึกอาชีพ

จัดหลักสูตรการอบรมเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ  3) จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการจ้างงาน หรือ การมีงานทำอย่างยั่งยืนของนักเรียนหลังจบและผ่านการฝึกอบรม ทักษะ ด้านอาชีพ 4) ผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องในการดำเนินงาน และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน หากประสบความสำเร็จจะได้มีการประสานและหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางในการขยายผลการดำเนินการไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในลำดับต่อไป

“ในปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมของไทยถือว่าอยู่ในภาวะวิฤต ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ผู้ตรวจการแผ่นดินในฐานะองค์กรกลางได้ประสานความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติหน้าที่และแก้ไขปัญหาของแต่ละองค์กรได้อย่างบรรลุเป้าหมายที่ต้องการพัฒนานักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับซึ่งมีฐานะยากจนจนขาดโอกาสในการศึกษาต่อได้มีทักษะด้านวิชาชีพ พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ ‘แรงงานฝีมือที่มีศักยภาพ’ ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบ ซึ่งหากได้ผลตอบรับที่ดีจะได้ขยายผลปรับใช้ทั่วประเทศโดยเร็ว” นายสมศักดิ์ กล่าว