รมว.ศึกษาธิการ เปิดโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการเปิดโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการฯ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมา อาจไม่เพียงพอต่อสภาพการแข่งขันของโลกใจปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาด้วยการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ครอบคลุมการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ (Big ROCK) ด้านการศึกษา โดยการปรับหลักสูตรสมรรถนะ 6 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน โดยสมรรถนะเหล่านี้จะทำให้เด็กคิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีส่วนร่วมในสังคม

อีกทั้งหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่นี้ ยังเป็นการต่อยอดหรือเน้นในสัดส่วนที่เรายังขาดหายไปในหลักสูตรเก่า ให้ผู้เรียนเกิดทักษะ เกิดความรู้ความสามารถ และทำได้เก่งมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนในสาระสำคัญ เช่น เรื่องของเวลาเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาสมรรถนะของเด็กมากขึ้น โดยช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น หรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3 เวลาเรียนจะลดลงจาก 1,000 ชั่วโมงเป็น 800 ชั่วโมง เป็นการปลดล็อกด้านตัวชี้วัด ให้เด็กเรียน 7 สาระการเรียนรู้ แทน 8 สาระการเรียนรู้ ซึ่งจากการดำเนินการรับสมัครโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีความสมัครใจพบว่ามีโรงเรียนที่เข้าร่วมการทดลองใช้หลักสูตรรวมทั้งสิ้น 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 226 โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 17 โรงเรียน และ สังกัดสำนักงานการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 22 โรงเรียน

“ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นเราจะร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านการศึกษาแบบเดิมที่เต็มไปด้วยตัวชี้วัด มุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยน “ห้องเรียน” เป็น “ห้องเรียนรู้” ที่ผู้เรียนเข้าใจ ทำเป็น เห็นผลลัพธ์ และเด็กทุกคนมีโอกาสในการค้นพบเป้าหมายของตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ในฐานะผู้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาไทยให้สามารถยกระดับคุณภาพของนักเรียนให้ทัดเทียมนานาชาติ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ได้กำหนดให้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนหรือ Quickwin และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งมีดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการคณะต่างๆ เพื่อดำเนินงานต่อเนื่องในการยกร่างกรอบหลักสูตร รวมถึงการเตรียมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ เพื่อให้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และความต้องการของชุมชนที่มีบริบทแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การจัดเวทีระดมสมอง ในประเด็นที่สำคัญและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 ครั้ง 2) เวทีตามประเด็น ได้แก่ เป้าหมายของหลักสูตร แนวทางการจัดการเรียนรู้ การผลิตและพัฒนาครูให้พร้อมสำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น และ 3) เวทีตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มภาคเอกชน กลุ่มครู กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มอาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้วจำนวน 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมมากกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม โดยเปิดรับความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียของกระทรวงศึกษาธิการ และเว็บไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ (www.cbethailand.com) ซึ่งในขณะนี้มีผู้สนใจตอบแบบสอบถามแล้วทั้งสิ้น 1,247 คน และคาดว่าจะมีผู้สนใจอีกจำนวนมากที่จะส่งข้อความเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“สพฐ. ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และร่วมกันจัดทำ(ร่าง)กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น จนพร้อมสำหรับการนำไปใช้ทดลองในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และพร้อมใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศตามกรอบเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษามีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ปรับตัวสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีวินัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นพลเมืองที่รู้สิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้มีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ (Big ROCK) ด้านการศึกษา ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ การยกระดับคุณภาพผู้เรียน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใน 3 เรื่องดังกล่าว จะแบ่งเป็น 5 เรื่องใหญ่ๆ ที่จะดำเนินการต่อไปเรื่องแรกคือการสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ด้วยการจัดตั้งกองทุน กสศ. ซึ่งกำลังดำเนินงานอย่างแข็งขันในตอนนี้ เรื่องที่สองคือเรื่องของการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะในวันนี้ คือทำอย่างไรจึงจะพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่ทันสมัยสำหรับศตวรรษต่อไป และเรื่องที่สามที่อยู่ในประเภทการยกระดับคุณภาพ คือการสร้างระบบพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่วนเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถจะมีเรื่องของการจัดการอาชีวศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่ที่หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาทั้ง 5 ด้าน ซึ่งหลักสูตรเดิมก็เป็นหลักสูตรที่ดีแล้ว แต่ 13 ปีที่ผ่านมาโลกมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย หลักสูตรเดิมก็อาจไม่ตอบโจทย์กับการเรียนรู้ของเด็กในปัจจุบัน อย่างเช่นการที่เด็กของเราท่องจำเก่ง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหลักสูตรที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่ามีอะไร จึงเน้นท่องจำกันเป็นส่วนมาก หากเราต้องการให้เด็กรู้ด้วยและทำได้ด้วย ก็ต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้รองรับในด้านนั้น ทั้งในเรื่องการคิดเป็น การสื่อสาร การร่วมมือกับคนอื่น การคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยสมรรถนะหมายถึงการมีความรู้ มีทักษะ และมีเจตคติที่ดี เมื่อหลักสูตรเป็นไปในทิศทางที่สอนให้รู้ด้วย ทำเป็นด้วย ก็จะทำให้คิดเป็นและนำไปใช้งานได้จริง โดยผสมผสานกันระหว่างความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีของผู้เรียน

“ผมรู้สึกดีใจมากที่เรามาถึงวันนี้ เพราะหากเราไม่แก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ ปัญหาอื่นที่ยากลำบากก็จะตามมา ถ้าเราสามารถทำให้คนของเรามีคุณภาพมากขึ้นผ่านหลักสูตรการศึกษานี้ ก็จะทำให้ประเทศของเราพัฒนาอย่างก้าวกระโดด พร้อมทั้งสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามทำมาโดยตลอด วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมนำไปใช้จริงในโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป” รศ.ดร.วรากร กล่าว