วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวมทั้ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าว “ความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564”
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการออกประกาศ ศธ. เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) เพื่อกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนทั่วไป ว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามแนวการเปิดภาคเรียนที่ 2/2546 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) โดยประกาศ ศธ. ฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เงื่อนไขของมาตรการ แนวปฏิบัติ แผนเผชิญเหตุ และรายละเอียดต่าง ๆ ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยมีสาระสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 เงื่อนไขหลักของมาตรการ Sandbox Safety Zone in School รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 โดยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ On-Site จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ส่วนที่ 2 เงื่อนไขข้อกำหนด ของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ)
ส่วนที่ 3 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)
ส่วนที่ 4 มาตรการตามแผนเผชิญเหตุ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของสถานศึกษา
ส่วนที่ 5 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อการสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ในการเปิดเรียนแบบ On-Site โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ขณะที่ครูและบุคลากรในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ส่วนนักเรียนไม่มีกำหนด แต่ ศธ. ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครองเอง
ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะนี้กำลังสำรวจจำนวนโรงเรียนว่า ในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้จะใช้รูปแบบใด โดยพบว่ามีทั้งขอเปิดแบบ On-Site 100% หรือ On-Site ส่วนใหญ่ รวมกว่า 10,000 โรงเรียน มีบางแห่งขอใช้รูปแบบผสมผสาน และมีบางพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังไม่ให้เปิดแบบ On-Site ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่ให้เลื่อนไปเปิดวันที่ 15 พ.ย.แทน อย่างไรก็ตามจะปิดเทอม 2/2564 พร้อมกันในวันที่ 1 เม.ย. 2565
สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งสิ้น 869 แห่ง ตอบแบบสอบถามมา 832 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ 531 แห่ง ขอใช้รูปแบบผสมผสานคือมีทั้ง On-Site และ Online รองลงมา 192 แห่ง ขอใช้รูปแบบ Online 100% และจำนวน 109 แห่งขอใช้ On-Site 100%
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ระหว่างภาคการศึกษา โรงเรียนหรือสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งรูปแบบ On-Site หรือ Online หรือแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยนักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด รวมถึงมีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวัง มีการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน และจัดนักเรียนในห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน หรือจัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ตลอดจนมีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน หรือพื้นที่แยกกักชั่วคราว พร้อมทั้งมีแผนเผชิญเหตุสำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษามีการติดเชื้อโควิด 19 หรือมีผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด ควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น และหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดเส้นทางการเดินทาง ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางต่าง ๆ จะปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ขึ้นกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด
ทั้งนี้ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย 1. Distancing เว้นระยะห่าง 2. Mask wearing สวมหน้ากาก 3. Hand washing ล้างมือ 4. Testing คัดกรองวัดไข้ 5. Reducing ลดการแออัด 6. Cleaning ทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) อย่างเข้มข้น คือ 1. Self-care ดูแลตนเอง 2. Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3. Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4. Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5. Check สำรวจตรวจสอบ และ 6. Quarantine กักกันตัวเอง
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพอาคารเรียนภายหลังน้ำลด ณ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย - 6 ตุลาคม 2024
- ผอ.สวก.สพฐ. “วิษณุ” เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ “การศึกษาไทยก้าวไกลสู่ทศวรรษหน้า” - 5 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. พร้อม เลขาธิการ กพฐ. ร่วมงาน “ทิศทางการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กโคราช” จัดการเรียนรู้ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC - 5 ตุลาคม 2024