ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2565

วันที่ 6 มกราคม 2565 ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พระพรหมบัณฑิต นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom Meeting

นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) ได้กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน เด็กสามารถศึกษาหาความรู้รอบตัวได้เองผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการพัฒนาครูคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการศึกษาของเด็ก โดยเปลี่ยนแนวความคิดจากที่ครูเป็นผู้มอบองค์ความรู้ให้กับเด็กฝ่ายเดียว เปลี่ยนมาเป็นการแนะแนว (Couching) ให้เด็กได้ตระหนักรู้หรือสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาวิเคราะห์ นำมาปรับประยุกต์ใช้ได้ เพราะตอนนี้องค์ความรู้มีอยู่รอบตัวเราไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาครูให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิผลได้ในระยะยาว ทั้งนี้ การพัฒนาครูมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งตอนนี้การพัฒนาหลักสูตรก็กำลังดำเนินการควบคู่กันไปและต้องใช้เวลา แต่การพัฒนาครูเป็นส่วนที่สามารถทำได้เลย ในวันนี้โจทย์ของเราคือการทำอย่างไรให้คุณครูเข้าใจพฤติกรรมใหม่ ๆ ของเด็ก แล้วทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของสมรรถนะ ทำให้เด็กเข้าใจองค์ความรู้ต่าง ๆ ทำให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์มากกว่าได้รับความรู้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับวิถีการดำรงชีวิตต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้ได้

เรื่องอื่น ๆ ที่ขอฝากก็จะมีในเรื่องของ

1) แพลตฟอร์มกลางในการเรียนรู้ ที่สามารถจะเป็นทางลัดในการเรียนรู้ได้ เนื่องด้วยความหลากหลายของสภาพพื้นที่แต่ละโรงเรียน ที่แตกต่างกันไปตามบริบท โลกดิจิทัลจะเป็นกุญแจที่ทำให้เด็กต่างจังหวัดหรือเด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น เราจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง ที่จะรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ นำมาจัดหมวดหมู่ หรือเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กเข้าถึงองค์ความรู้ดี ๆ มีประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงคุณครูหากเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนเด็กนักเรียนได้

2) เรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องของการควบรวมโรงเรียน โดยทำให้เกิดเป็นโรงเรียนแม่ข่ายที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาครูไม่ครบชั้นหรือสื่อการเรียนรู้ที่ขาดแคลน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กน้อยกว่า 120 คนทั้งหมด ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลหรือในถิ่นทุรกันดารเราต้องยังคงไว้ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่การเดินทางสะดวก เด็กสามารถมาเรียนที่โรงเรียนแม่ข่ายได้ ก็จะให้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนแม่ข่ายและเรียนร่วมกัน โดยขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ในส่วนของโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งต้องหาแนวทางร่วมกันอีกหลายๆ แนวทางเพื่อให้โรงเรียนต่าง ๆ เหล่านี้เกิดการสร้างเครือข่ายร่วมกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

3) อีกเรื่องที่ต้องเน้นย้ำคือเรื่องความปลอดภัยของเด็กและครูในสถานศึกษา ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งศูนย์ MOE Safety Center ขึ้นมา เพื่อช่วยให้กระทรวงฯ สามารถดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาได้อย่างรอบด้าน ซึ่งหากมีเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็ว

4) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ที่นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้เน้นย้ำให้กระทรวงฯ ดูแลช่วยเหลือมาโดยตลอด ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้มีการสำรวจตรวจว่ามีเด็กที่ตกหล่นจากระบบจำนวนเท่าไร และได้ปักหมุดเด็กเอาไว้เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาในการนำเด็กเข้าสู่ระบบ ในส่วนของการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ อาจยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ แต่เป้าหมายหลักของเราคือการนำให้เด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด

“ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้มีความยืดหยุ่นโดยเน้นที่ผลลัพธ์ที่การพัฒนาของเด็กเป็นสำคัญ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาภายใต้ความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไปค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว

สำหรับการประชุมฯ มีเรื่องที่ต้องดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานที่น่าสนใจ อาทิ แผนงานและโครงการที่สนับสนุนนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. 9 จุดเน้น ที่จะใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้แก่

จุดเน้นที่ 1 เร่งแก้ปัญหากลุ่มผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss Recovery) ให้กับผู้เรียนทุกระดับ รวมทั้งลดความเครี่ยดและสุขภาพจิตของผู้เรียน

จุดเน้นที่ 2 เสริมสร้างระบบและกลไกในการดูแล ความปลอดภัยนักเรียน ด้วยระบบมาตรฐานความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ (MOE Safety Platform)

จุดเน้นที่ 3 ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยที่มีอายุ 3-6 ปี และผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และป้องกันการหลุดออกจากระบบ รวมทั้งช่วยเหลือเด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน และเด็กพิการ ที่ค้นพบจากการปักหมุดบ้านเด็กพิการ ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

จุดเน้นที่ 4 พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นสมรรถนะ และการจัดทำกรอบหลักสูตร รวมทั้งจัดกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ให้เหมาะสมตามวัยของผู้เรียน

จุดเน้นที่ 5 จัดการอบรมครูโดยใช้พื้นที่เป็นฐานควบคู่กับการให้ความรู้ด้านการวางแผนและการสร้างวินัย ด้านการเงินและการออม เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู

จุดเน้นที่ 6 ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีปฏิสัมพันธ์ กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ที่หลากหลายรูปแบบ (Active Learning) มีการวัดและประเมินผล เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for learning) เพื่อให้เกิดสมรรถนะกับผู้เรียนทุกระดับ

จุดเน้นที่ 7 ยกระดับคุณภาพของนักเรียนประจำพักนอน สำหรับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สูง ห่างไกล และถิ่นทุรกันดาร

จุดเน้นที่ 8 มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ทุกระดับ

และจุดเน้นที่ 9 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา โดยการกระจายอำนาจและใช้พื้นที่เป็นฐานเพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยการจัดสรรกรอบวงเงินงบประมาณ (Block Grant) ตามหลักธรรมาภิบาล ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา

โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งโรงเรียนออทิสติกสุพรรณบุรี การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกด้วย