วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมการประชุม อาทิ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายยุทธศาสตร์ ศรีสุข ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดอุดรธานี และคณะทำงาน เข้าร่วมการประชุม ณ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จังหวัดอุดรธานี
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า วันนี้ได้มาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินครู ทราบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งมีจำนวนกว่า 180 แห่ง ขณะนี้ 70 กว่าแห่งได้มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยเรื่องหลักๆ คือการลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จากที่ได้มาเยี่ยมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดอุดรธานี ถือว่าเป็นสหกรณ์ฯที่เป็นต้นแบบโดยลดดอกเบี้ยได้มากที่สุดถึง 1% แล้วทางสหกรณ์ฯ เองก็ได้ดำเนินการต่างๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือเรื่องของการลดดอกเบี้ย และหลักการ 70/30 ที่ต้องการให้ครูมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงได้ลงมาดูเพื่อให้มาตรการต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้จริง อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเครดิตบูโรที่จะรวมหนี้จากทุกทาง เพื่อจะได้รู้ว่าครูมีหนี้จริงๆ เท่าไหร่ และสำหรับครูรุ่นใหม่ที่ต้องการกู้ก็จะได้ทราบแนวทางที่ถูกต้องในการกู้เงินหลังจากนี้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสถานีแก้หนี้ ทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับจังหวัด ทั่วประเทศ โดยคุณครูที่มีหนี้ก็จะมีหลายกลุ่มซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับคนที่มีหนี้เกิน 70% อาจจะทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิต รายรับรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย จึงต้องมีสถานีแก้หนี้ในระดับเขตพื้นที่ฯ ช่วยในการไกล่เกลี่ยในระดับพื้นที่ก่อน หากมีผู้เกี่ยวข้องที่เกินกว่ากำลัง ก็จะไปดำเนินการต่อในระดับจังหวัด นอกจากนั้นก็ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระ ในส่วนของหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเราก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นเรื่องการเงิน ทั้งสถาบันการเงินหลายภาคส่วนที่จะมาให้ความรู้แก่ครูที่จะเป็นผู้กู้รายใหม่ในอนาคต โดยทำความเข้าใจว่าต้องมีการวางแผนการเงินอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก จะทำให้วางแผนการใช้เงินในอนาคตได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
“ปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก ทางกระทรวงฯ ก็ได้รับนโยบายมาและเร่งดำเนินการให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ในตอนนี้เราก็เริ่มต้นเอาเจ้าหนี้มาคุยกัน ว่าจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการผ่อนคลายและแก้ไขปัญหาทั้งระบบให้ได้มากที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายสุทธิชัย จรูญเนตร ทปษ.รมว.ศธ. กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนกับเราแล้วกว่า 1.3 หมื่นคน เฉพาะในส่วนของผู้กู้ยังไม่รวมผู้ค้ำประกัน ถือว่าเป็นจำนวนมากที่เราจะได้เข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ หลังจากได้รายชื่อคนที่ลงทะเบียนแล้วเราจะส่งกลับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ฯ แล้วให้ทางเขตพื้นที่ไปจัดทำข้อมูล ว่าคนที่เป็นหนี้ เป็นหนี้อะไรเท่าไหร่อย่างไร และจัดลำดับความเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป
ขณะที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาครูที่มีหนี้นอกระบบ ต้องเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกลไกที่เราควบคุม แต่สิ่งที่เราจะช่วยได้คือเราต้องไปดูว่าสาเหตุที่เขาไปมีหนี้นอกระบบนั้นเป็นเพราะอะไร หากเขาต้องการนำหนี้นอกระบบให้เข้ามาในระบบแล้วเราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร อีกทางหนึ่งคือการให้ความรู้ แนวทางการแก้ปัญหาด้านการเงิน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” เข้าเฝ้าฯ ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันนวมินทรมหาราช พุทธศักราช 2567 - 13 ตุลาคม 2024
- รมว.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจราชการออกเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี - 8 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และกรอบเนื้อหาแบบเรียนภาษาจีน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. - 7 ตุลาคม 2024