สพฐ. จับมือ กรมอนามัย สร้างความเข้าใจเตรียมพร้อมโรงเรียนที่เป็นสนามสอบรองรับนักเรียน ติดเชื้อโควิด-19  อาการเล็กน้อยหรือสัมผัสเสี่ยงสูง

วันที่ 3 มีนาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวงได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นย้ำว่าการบริหารจัดการดังกล่าวต้องคำนึงถึงโอกาส และสิทธิของนักเรียนในการสอบเข้าศึกษาต่อเป็นสำคัญ  โดยยึดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของทุกคนเป็นหลัก

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า  สพฐ. ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เกี่ยวกับมาตรการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามที่ ศบค. เห็นชอบให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยสามารถเข้าสอบเพื่อศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ม.4 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง รอบทั่วไป ม.1 จะสอบวันที่ 26 มีนาคม 2565 และ ม.4 สอบวันที่ 27 มีนาคม 2565 จะดำเนินการตามมาตรการของ สธ. อย่างเคร่งครัด ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อ จะมีการแยกสนามสอบไม่ให้ปะปนกับเด็กทั่วไป และมีการแยกทางเข้าออก หากใช้พื้นที่สอบเดียวกัน ให้ผู้จัดสนามสอบจัดพื้นที่สอบสำหรับผู้ติดเชื้อ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง หากมีเครื่องปรับอากาศ ต้องมีพัดลมดูดอากาศ และเว้นระยะห่าง 2 เมตร

“สำหรับการรับนักเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูง และห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2565 ซึ่งจะสอบคัดเลือกในวันที่ 5-7 มีนาคมนี้ นักเรียนทุกคนที่สมัครสอบเข้าสอบได้ทุกคน แม้จะมาแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง โดยทางโรงเรียนจะจัดห้องสอบเป็นการเฉพาะ โดยทุกหน่วยงานร่วมใจคำนึงถึงโอกาส และสิทธิของนักเรียนในการสอบเข้าศึกษาต่อเป็นสำคัญ ซึ่งวันนี้ได้เชิญรองอธิบดีกรมอนามัย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยในการจัดสอบด้วย พร้อมตอบข้อกังวลของ รร ที่ต้องเตรียมแผนรองรับ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดสนามสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องเป็นไปตามมาตรการของ สธ. โดยไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ทุกราย แต่ให้ตรวจในรายที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงสูง ส่วนสถานที่จัดสอบนั้นให้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ทำการคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยจัดพื้นที่แยกสอบระหว่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและกลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร จัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดการขยะติดเชื้อ และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ด้านผู้คุมสอบให้ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ใช้เวลาในห้องสอบให้น้อยที่สุด วางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม