วันที่ 8 เมษายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ได้แก่ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายวชิรพันธ์ นาคก้อน ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สป.ศธ. รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายขจรธนะแพสย์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย นายโกวิท คูเพนียด รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สำนักนิติการ สป.ศธ. นายคเชนทร์ บุญวงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด นางสุรางค์ คัยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ นางมลชลีณา กิตติขจร ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกําแพงเพชร จํากัด เป็นต้น ร่วมบรรยายให้ข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ Zoom Meeting พร้อมทั้งถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Channel
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูถือว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยประกาศเป็นการลดหนี้ครัวเรือน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าหนี้ครูจำนวน 1.4 ล้านล้าน ถือว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่ จึงมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เข้ามาช่วยเหลือ และเชื่อมต่อในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ เข้ามาทำงานร่วมกัน และได้มอบหมายนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธานคณะทำงานในการช่วยกันแก้ไขและดำเนินงานในเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกันเราได้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยเริ่มจากจุดที่ครูมีหนี้มากที่สุดได้มาประสานงานและทำงานร่วมกัน เป็นคณะทำงานที่มาช่วยร่วมเจราทำการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ครู ที่ได้เจรจาไปแล้วกว่า 80 แห่ง แล้วมีการลดดอกเบี้ยลงไป ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 11 แห่งที่ลดดอกเบี้ยได้ต่ำกว่า 5% และมีครูที่ได้รับประโยชน์กว่า 460,000 คน ตลอดจนการพูดคุยผ่อนปรนหนี้จากธนาคารออมสิน กว่าอีก 20,000 ราย นี่คือโครงการในเบื้องต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครูในภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา
“ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการเหล่านี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและหาแนวทางให้กับพี่น้องครูหรือบุคลากรทางการศึกษามากขึ้น นอกจากการลดดอกเบี้ยยังมีการหาแนวทางให้พี่น้องครูสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยให้มีเงินเดือนเหลือ 30% เพื่อไม่ให้ครูเกิดความเดือดร้อน ดังนั้นโครงสร้างของหนี้สินนั้นมีความซับซ้อนและการแก้ไขเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงต้องอาศัยเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการจัดตั้งสถานีหนี้ครูถือเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับเขตพื้นที่และระดับจังหวัด ขณะนี้มีการจัดตั้งสถานีหนี้ครูแล้วกว่า 558 แห่ง และมีการลงทะเบียนในเบื้องต้นเพื่อรับการช่วยเหลือ ซึ่งมีครูลงทะเบียนแล้วกว่า 41,000 คน ในเบื้องต้นจะเป็นการรายงานผู้บริหารระดับเขตพื้นที่ว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง หากเกินกว่ากำลังก็จะเลื่อนขึ้นไปเป็นระดับจังหวัด ถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการเบื้องต้นของ ศธ. เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับครูค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว
ทางด้าน นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้จัดประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงรายละเอียดให้กับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ในประเด็นที่ว่า วันนี้เรามีการตั้งสถานีแก้หนี้ครูขึ้นมา โดยเฉพาะ 2 สถานีหลัก นั่นก็คือ สถานีแก้หนี้ครูในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้ชิดกับครูมากที่สุด และสถานีแก้หนี้ครูในระดับจังหวัด ซึ่งเราได้มีการประชุมและชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ในวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่คณะกรรมการของเราได้ชี้แจงกับผู้ดำเนินการในระดับเขตพื้นที่และสถานศึกษา โดยหลักๆ เป็นการชี้แจงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่ามีความเป็นมาอย่างไร สำคัญอย่างไร เพื่อให้คณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ได้ทราบบทบาทหน้าที่ในการเข้ามาจัดการเรื่องนี้ ว่ามีขอบเขตและแนวปฏิบัติอย่างไร โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลว่าจะใช้เครื่องมืออะไรบ้าง และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
สำหรับขอบเขตหน้าที่นั้น ทางคณะกรรมการฯมีหน้าที่เรียกครูที่ลงทะเบียนผ่านระบบ เข้ามาพูดคุยว่ามีปัญหาอะไรและอยากให้ทางเขตช่วยเหลืออะไรบ้าง เช่น บางคนต้องการให้ลดดอกเบี้ย คณะกรรมการก็จะไปพูดคุยกับทางสถาบันการเงินว่าสามารถลดดอกเบี้ยได้ไหม หรือบางคนต้องการให้ปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะได้ช่วยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง วันนี้ก็มีผู้แทนจากธนาคารออมสินเดินทางมา ซึ่งธนาคารออมสินเป็นสถาบันหลักที่มีสมาชิกที่กู้เงินอยู่จำนวนมาก ที่ผ่านมาธนาคารออมสินก็ได้ช่วยในหลายเรื่อง เช่น การออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อปล่อยกู้ให้กับสมาชิก นอกจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วย อย่างเช่นการให้กู้เงินบำเหน็จตกทอด เป็นต้น.”สำหรับคนที่ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเข้ามา ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการลดดอกเบี้ยมากที่สุด นอกจากนั้นคือเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ การบรรเทาความเดือดร้อนในฐานะผู้ค้ำประกัน หรือการชำระค่าธรรมเนียมบางรายการที่ไม่จำเป็น เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ก็มีสหกรณ์ที่ได้ลดดอกเบี้ยลงมากว่า 70 แห่งแล้ว และมีถึง 11 แห่งที่ลดดอกเบี้ยลงมาน้อยกว่า 5% จากทั้งหมด 108 แห่งทั่วประเทศ ในส่วนของการลงทะเบียนแก้หนี้ครูเพิ่มเติม ตอนนี้เราต้องการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ลงทะเบียนรอบแรกก่อน ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 เดือน จากนั้นเราก็จะเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 ต่อไป” ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าว
- เสมา 2 ชื่นชม สพฐ. ปรับโฉมใหม่ ประชุม ผอ.สพท. เน้นผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน - 14 กันยายน 2024
- เสมา 1 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ สั่งการเร่งช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัย - 13 กันยายน 2024
- สพฐ. แจ้งแนวทาง สพท.ทั่วประเทศ ตรวจสอบ เน้นย้ำ กำชับสถานศึกษาทุกแห่ง ลดภาระการประเมินและเลื่อนเงินเดือนครู - 13 กันยายน 2024