รมว.ศธ. แถลงผลงาน 1 ปี ขับเคลื่อนการศึกษาทุกมิติ

วันที่ 27 เมษายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมขับเคลื่อนการศึกษาในทุกมิติ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการร่วมรับฟัง อาทิ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ผู้ช่วย รมว.ศธ. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นต้น ณ สวนวันครู 65 บริเวณหน้าอาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “การศึกษาต้องสร้างให้คนไทยมีคุณสมบัติ 4 ประการคือ 1. มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง 3. มีอาชีพ มีงานทำ และ 4. เป็นพลเมืองดี มีระเบียบวินัย” เป็นแนวทางสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ตอบโจทย์ที่สำคัญเพื่อผู้เรียน คุณภาพการเรียนการสอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทุกคน ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 โดยเน้นการทำงานที่รวมใจบุคลากรในสังกัด ศธ. ให้เป็นหนึ่งเดียว หรือทีมกระทรวงศึกษาธิการ (MOE One team) เพื่อร่วมกันผลักดันคุณภาพการศึกษาไทย สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้กับสังคม “TRUST” พร้อมสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ดังนี้

มิติเพื่อผู้เรียน For Learners ศธ. ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์ “MOE Safety Center” ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ภายใต้โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อค้นหา ติดตามเด็กตกหล่น และออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เพื่อให้ผู้เรียนที่ขาดโอกาส ได้เรียนฟรี มีที่พักมาตรฐาน ส่วนเด็กด้อยโอกาสและผู้มีความจำเป็นพิเศษ ได้รับโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาจากการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลทั่วประเทศ”

มิติเพื่อคุณภาพการการเรียนการสอน FOR QUALITY TEACHING ศธ. ได้จัดทำ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ การศึกษาขั้นพื้นฐาน” เน้นสมรรถนะหลักที่สำคัญสำหรับเด็ก 6 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยหลักสูตร “Active Learning” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง โดยผู้เรียนเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน โดยจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัด” และ “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา” ตามความเป็นเลิศของแต่ละสถานศึกษาและตามบริบทเชิงพื้นที่ อีกแนวทางที่สำคัญ คือ โครงการ “โรงเรียนคุณภาพ” ซึ่งต่อยอดจากโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ มีความหลากหลาย รองรับศักยภาพของผู้เรียนที่แตกต่างกัน

มิติเพื่อชุมชนและสังคม FOR THE BENEFIT OF COMMUNITY & SOCIETY ศธ. ให้ความสำคัญกับ “การศึกษาตลอดชีวิต” ให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัย อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการเข้าสู่สังคมสูงวัย จัดการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะ ส่งเสริมการมีงานทำ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สร้างความยั่งยืนในท้องถิ่น ทั้งการพึ่งพาตนเอง ความกตัญญู การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทางปัญญา ด้วย “อารยเกษตร” เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะเยาวชนให้เป็นอารยเยาวชนไทย ด้านการช่วยเหลือประชาชน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเทศกาลสำคัญ ภายใต้โครงการ “ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน” จาก 100 ศูนย์ Fix it Center ทั่วไทย ออกให้บริการซ่อมถึงบ้านฟรี สามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน “ช่างพันธุ์ R อาชีวะซ่อมทั่วไทย” ที่สำคัญได้ผลักดันร่างกฎหมายที่สำคัญของการศึกษาไทย คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

มิติเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา For Teachers and Educational Personnel ได้กำหนดโมเดล “การแก้ไขปัญหาบ้านพักครูทั้งระบบ” สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครู เพื่อความปลอดภัยและลดภาระค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันเร่งแก้ปัญหา “หนี้สินครู” โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อช่วยเหลือด้านหนี้สินครูทั้งระบบที่สะสมรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ในด้านการพัฒนา มีหลายโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีพื้นที่ในการเรียนรู้ ทบทวน ฝึกฝนทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่จำเป็น โดยเฉพาะทักษะการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ “New Normal” รวมถึงเปิดมุมมองให้ครูสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในบทเรียนได้มากขึ้น ที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญ คือ หลักสูตร “ตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม” เฟส 2 ที่กำลังอบรมอยู่ ผู้สมัครเข้าอบรมรวมกัน 10 หลักสูตร จำนวน 1,000,500 คน ถือเป็นหลักสูตรการอบรมออนไลน์ใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกทั้งยังได้ใช้กลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงาน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เช่น ปรับเกณฑ์ประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ทั้ง 4 สายงาน โดยกำหนดให้ทำ “ข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือเกณฑ์ PA” รวมทั้งเร่งรัดการจ่ายเงินเยียวยาครูชายแดนใต้ที่เสียชีวิตย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จำนวน 183 ราย รายละไม่เกิน 4 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษาด้วย “เงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท” ได้รับถึงมือแล้วกว่า 11 ล้านคน พร้อมทั้ง “สนับสนุนผู้เรียนสายอาชีพ” โดยปรับอัตราค่าเครื่องมือประจำตัวผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อคน เพื่อให้ได้พัฒนาทักษะฝีมือให้เต็มศักยภาพ ฝึกประสบการณ์อาชีพได้อย่างเต็มที่ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง สร้างแรงจูงใจให้มีการเรียนต่อเพิ่มมากขึ้น และในปีการศึกษา 2565 นี้ ศธ.ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สถานศึกษาเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันได้เร่งสำรวจข้อมูลและดำเนินการให้ครู บุคลากร และผู้เรียนทุกคนตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป ได้เข้ารับการฉีด “วัคซีน COVID-19” ซึ่ง ศธ.จะจัดแถลงข่าวความพร้อมเปิดเทอม ก่อนเปิดเทอม พ.ค.นี้

สำหรับความร่วมมือการศึกษาไทยในเวทีนานาชาติ International Cooperation in Education ตนได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 214 ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้ยูเนสโกขับเคลื่อนความร่วมมือในประเทศสมาชิก ในลักษณะโครงการข้ามสาขาวิชา (Cross Cutting Theme) พร้อมให้การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านกลไกของความร่วมมือด้านการศึกษา


ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference on SDG4-Education 2030 ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2565 ที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีร่วมกันวิเคราะห์ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุมภายหลังผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19

“พลังในการจัดการศึกษาแห่งอนาคต ดิฉันเห็นว่าย่อมไม่เป็นของครูผู้สอน บุคคล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่จะเป็นพลังร่วมกันในการขับเคลื่อนการศึกษา ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาช่วยเติมเต็ม สร้างความมั่นคง เสริมความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ศธ.มุ่งมั่นบริหารจัดการศึกษา ให้ทุกภาคส่วนร่วมใจสร้างผู้เรียนที่ดีขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีกว่า “Better Learners for Better Future” ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสานต่อโครงการที่เกิดประโยชน์ เติมเต็มการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปี 2565 เพื่อให้การศึกษาไทยเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาในทุกมิติ นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างแท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว