สพฐ. และกรมสุขภาพจิต ลุยหน้าเตรียมพร้อม “ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่”

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางไกล เรื่องการพัฒนาผู้ดูแลระบบ School Health HERO ระดับพื้นที่ (HERO Area Admin) ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. (DOC) อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็ก วัยรุ่น และจิตแพทย์ครอบครัว รวมถึงผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ นางรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นางเกษศิรินทร์ สุวรรณสุนทร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว และ ผศ.ดร.อิสระ อนันตวราศิลป์ อาจารย์คณะวิศวรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมการประชุม พร้อมทั้งบรรยายการดำเนินงานและการใช้งานระบบ School Health HERO ผ่านระบบห้องประชุมทางไกล ZOOM Meeting

ในโอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้นำนโยบาย สพฐ. หลอมรวมเพื่อไปสู่ทิศทางการสร้างเสริมความปลอดภัยและสุขภาพจิตด้วยการแนะแนว ผ่านระบบ School Health HERO รวมถึงความสำคัญของการพัฒนาผู้ดูแลระบบ School Health HERO ระดับพื้นที่ (HERO Area Admin) และการใช้งานโปรแกรมสำหรับคุณครู ที่เชื่อมโยงสู่การปฏิบัติถึงการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน โดยครูสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้นจากการแนะนำในระบบ และพัฒนาตนเองด้วย E-learning ในโปรแกรม ซึ่งจากการเข้าใช้งานระบบ มีโรงเรียนที่เข้าใช้งาน 2,306 โรงเรียน มี HERO Consultant จำนวน 681 คน มีนักเรียนที่ได้รับการประเมิน 9S Plus จำนวน 311,895 คน ในจำนวนนี้มีนักเรียนที่ได้รับการติดตามประเมิน (SDQ) ครบทั้ง 2 เทอม จำนวน 5,526 คน และมีนักเรียนที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจนดีขึ้น จำนวน 3,832 คน คิดเป็น 63.34%

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำในเรื่องการดูแลนักเรียนให้ได้รับความปลอดภัย ทั้งทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยสิ่งสำคัญคือการเติมความรู้ ทักษะ หรือเจตคติในด้านต่างๆ จะทำได้ดีหรือมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งควบคู่กันไปด้วย จึงได้มีการต่อยอดจาก MOU เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ส่งตรงถึงนักเรียน และเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง สร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนตามนโยบาย “ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่” โดยเริ่มต้นจากการเตรียมการปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่ เพื่อให้ทุกโรงเรียนและเด็กทุกคนได้รับโอกาสในการเติมเต็มหรือดึงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยเราจะมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลและพัฒนาครู ผ่านทาง E-Learning ในโอกาสนี้จึงขอรณรงค์ให้ใช้ School Health HERO กันทั่วประเทศ เพื่อเติมเต็มสุขภาพจิตนักเรียนให้เข้มแข็ง ภายใต้นโยบายสถานศึกษาปลอดภัย โดยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายและส่งมอบความรู้ให้นักเรียนไปพร้อมกัน

“สำหรับการดำเนินการต่อไปในปีการศึกษา 2565 เราจะทำให้นักเรียนได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของนักเรียน ภายใต้มิติของการมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้นักเรียนมีพลังงานในการเรียนรู้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้บูรณาการร่วมกัน ทำให้นักเรียนของเรามีความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะเติมเต็มสิ่งใหม่ๆ และก้าวไปสู่การพัฒนาสมรรถนะของตนเองต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านสาธารณสุขในการทำงานและดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในพื้นที่ร่วมกัน และนำ School Health HERO Digital Platform มาใช้ในการทำงานที่เป็นการตอบโจทย์การดูแลสุขภาพจิตวิถีใหม่ ขณะที่นางรัตนา แสงบัวเผื่อน ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ และนางเกษศิรินทร์ สุวรรณสุนทร ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว ได้แนะนำเอกสารแนวทางการสร้างเสริมความปลอดภัยในมิติส่วนตัวและสังคม และสุขภาพจิตนักเรียนด้วยการแนะแนว และ School Health Hero เพื่อให้คุณครู ผู้บริหาร ผู้ที่ดูแลระบบ ได้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ให้เกิดความเข้าใจและมั่นใจในการนำสู่การปฏิบัติ

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาดูแลระบบ School Health HERO ระดับพื้นที่ (HERO Area Admin) ซึ่งมี 245 เขต เขตละ 2 คน รวม 490 คน ให้สามารถดำเนินการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคให้กับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติในพื้นที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ เป็นการช่วยลดภาระให้กับคุณครู ไม่ต้องกรอกข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน สามารถเข้าใช้งานเพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิตนักเรียนด้วยข้อคำถามเพียง 9 ข้อ หรือ 9s plus และสามารถเรียนรู้คำแนะนำในการดูแลแก้ไขสุขภาพจิตพื้นฐานจากคำแนะนำและการเรียนรู้ด้วยระบบ E-learning ในโปรแกรม และขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในระบบ หรือ HERO Consultant ได้อีกด้วย ในการประชุมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมและรับฟังจำนวนมาก ทั้งผู้บริหารจาก สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ คุณครู รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรจากกรมสุขภาพจิต และผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 7,300 ราย