สพฐ. หนุน ศน. พาครูเคลื่อน Active Learning ทั้งประเทศ เพื่อนักเรียน

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมและชี้แจงนโยบายการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้กับศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบ Active Learning ทั้ง 245 เขตฯทั่วประเทศ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน” ผ่านการประชุมในรูปแบบออนไลน์ทาง Zoom Meeting

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สตผ.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 พบว่า มีครู 87,126 คน ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ Active Learning แต่ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 จากการสำรวจโดยศูนย์บริหารการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (ศบศ.) มีครู อยู่อีกจำนวน 59,620 คน ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเรื่องนี้ และมีจำนวน 80 เขตพื้นที่ที่พัฒนาครบ 100% แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการนำของ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. จึงมีนโยบายให้ทุกสำนักที่มีส่วนเกี่ยวข้องผนึกกำลังในการพัฒนาครูให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning ได้ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพผู้เรียนจนไปถึงสมรรถนะที่สำคัญตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) โดยนำ One Team 5 สำนัก ประกอบด้วย สวก. สทศ. ศนฐ. สบว. สบน. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. เคลื่อนที่เร็วแบบ Booster Active เติมเต็มศักยภาพ ผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์ ทั้ง 6 ภูมิภาค ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเขตพื้นที่ ให้ความสนใจในการพัฒนา จากสำนักต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเดินหน้าเติมเต็มอย่างเต็มพื้นที่ของ ศบศ. ในการพัฒนาครู 59,620 คน ด้วย Premium Trainer 5 โมดูล ให้ครบ 100% ภายในเดือนกันยายน 2565 นี้อย่างแน่นอน

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นกระบวนการสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรฯ ให้นักเรียนได้คิด ลงมือปฏิบัติ และสื่อสารสิ่งที่ได้เรียนรู้ตามจุดประสงค์ในแผนการจัดการเรียนรู้นั้น มุ่งสู่การสร้างสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมในรายวิชาแล้วเกิดผลผลิต (Output) ด้วยการบูรณาการตัวชี้วัดในรายวิชา และการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระฯ ผ่านชิ้นงานที่ต่อยอดจากองค์ความรู้ ที่นักเรียนสร้างขึ้นเองแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ทักษะการปฏิบัติ เจตคติ เสริมด้วยคุณค่าของการเรียนรู้ในรายวิชาด้วยระบบการคิดแบบอัตโนมัติ สู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานคุณภาพด้วยตัวนักเรียนเอง นอกจากนี้ โรงเรียนต้องให้นักเรียนได้มีช่วงเวลาในการคิดและสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองที่เกิดจากการเรียนรู้ในรายวิชา เติมต่อเป็นผลลัพธ์บั้นปลาย (Ultimate Outcome) ถึงสมรรถนะของผู้เรียน ปรับเปลี่ยนเป็นพฤติกรรม (Action) ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะฯ และนโยบายเร่งด่วนของ เลขาธิการ กพฐ. 10 เรื่อง

“จะเห็นได้ว่าการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning เป็นจุดเน้นสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อน Active Learning สู่สมรรถนะผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบ Active Learning รวมถึงศึกษานิเทศก์ทุกคน จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อน Active Learning ในระดับเขตพื้นที่ลงสู่สถานศึกษา ด้วยการร่วมคิดพาทำ นำสู่ห้องเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนในทุกระดับ ทั้งนี้ สพฐ. ขอเป็นกำลังใจให้ศึกษานิเทศก์ทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ ในการเป็นพี่เลี้ยง ติดตาม ส่งเสริม เติมเต็มให้เกิดคุณภาพการเรียนการสอน Active Learning ในห้องเรียนอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว