สพฐ. สร้างโอกาสเส้นทางอาชีพตามความสนใจ สะสมหน่วยกิตล่วงหน้า ต่อยอดงานทำ กับเครือข่ายมหาวิทยาลัย

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการจัดการเรียนการสอนแบบสะสมหน่วยกิตล่วงหน้า (Pre-degree) ระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี โดยมี นายวิทยา ประวะโข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รวมถึงผู้แทนจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี นำโดย นายวิทยา ประวะโข ผอ.สพม.อุดรธานี ได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการจัดการเรียนการสอนแบบสะสมหน่วยกิตล่วงหน้า (Pre-degree) ซึ่งเป็นโครงการที่เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียน เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนจากอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถเรียนจบปริญญาตรีล่วงหน้า ควบคู่กับเรียน ม.ปลาย ต่อยอดสิ่งที่อยากรู้ อยากเรียนเพื่อเป็นเส้นทางประกอบอาชีพต่อไป นอกจากนี้ ครูกับอาจารย์มหาวิทยาลัยยังได้สอนร่วมกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ได้จัดค่ายวิชาการกับมหาวิทยาลัย ได้ใช้สื่อ ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยพัฒนาการสอน Online และด้านเทคโนโลยี ให้ครูได้รับการพัฒนาและนิเทศจากสถาบันผลิตครูอย่างต่อเนื่อง ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้ได้ระดับตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด อีกทั้งนักเรียนยังได้เรียนรู้การเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่เรียนในระดับมัธยมศึกษา ในส่วนของโรงเรียนเองยังได้รับความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ใช้สื่อเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนและใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน

“จากการลงนามในครั้งนี้จะเห็นได้ว่า สพม.อุดรธานี ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการประกอบอาชีพ การมีงานทำที่รวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน แต่ยังคงคุณภาพของผู้เรียนทั้งด้านความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นับเป็นก้าวใหม่ของการศึกษาไทยที่ไม่จำกัดการเรียนรู้ให้อยู่ในกรอบเดิมๆ แต่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ได้เรียนในสิ่งที่สนใจ สามารถต่อยอดไปถึงการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคตได้ สพฐ. ขอชื่นชมทั้ง สพม.อุดรธานี มรภ.อุดรธานี รวมถึงโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ร่วมโครงการ ทั้ง 28 โรงเรียน ที่ได้บูรณาการร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียน เป็นภาพความสำเร็จที่สมควรเป็นแบบอย่างให้เกิดความร่วมมือเช่นนี้ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบสะสมหน่วยกิตล่วงหน้า (Pre-degree) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีจำนวนทั้งสิ้น 15 สาขา ได้แก่ 1. การจัดการอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีอาหาร 2. เทคโนโลยีสารสนเทศ 3. วิทยาการคอมพิวเตอร์ 4. เคมีอุตสาหกรรม 5. เคมี 6. ชีววิทยา 7. จุลชีววิทยา 8. ชีวอนามัยและความปลอดภัย 9. ฟิสิกส์ 10. วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 11. วิทยาศาสตร์การกีฬา 12. วิศวกรรมชีวการแพทย์ 13. การแพทย์แผนไทย 14. สาธารณสุขศาสตร์ และ 15. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรูปแบบการเรียนการสอนมีทั้งการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน การเรียนการสอนภาคฤดูร้อน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี การสอนเสริมโดยคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี การศึกษาด้วยตัวเอง ผ่านสื่อการสอนออนไลน์หรือเอกสารประกอบการสอน และค่ายอบรมรายวิชาปฏิบัติการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์การศึกษาสามพร้าว ขณะที่การประเมินผลการเรียนและการเก็บหน่วยกิต นักเรียนต้องลงทะเบียนและเลือกรายวิชาที่ต้องการเก็บหน่วยกิตตามกำหนดเวลาในแต่ละภาคการศึกษา ต้องมีผลการเรียนในระดับมัธยมปลายไม่ต่ำกว่า 2 ในทุกรายวิชาที่จะต้องเรียน เพื่อโอนเก็บหน่วยกิตในระดับปริญญาตรี ส่วนในรายวิชาปฏิบัติการ นักเรียนต้องเข้าร่วมค่าย และผ่านการอบรมวิชาปฏิบัติการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (ไม่มีค่าใช้จ่าย) และต้องผ่านการสอบวัดผลการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังในรายวิชาที่ต้องการโอนเก็บหน่วยกิตในระดับปริญญาตรีด้วย