ศธ. ตั้งทีมเสริมทัพ เพิ่มความเข้มแข็งมืออาชีพ ช่วยโรงเรียน ป้องกันเหตุและแก้ไขอย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเตรียมการวางแผนการดำเนินงานของคณะทำงานสุขภาพเด็ก โดยมีแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยมีนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว และนักวิชาการศึกษากลุ่มแนะแนว ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และทีมจิตแพทย์จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting

สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ เร่งเดินหน้าการดูแลส่งเสริมเพิ่มความเข้มแข็งทางใจ ป้องกันเหตุและภัยให้กับนักเรียน โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้แต่งตั้ง แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร เป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งมอบหมายให้แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. พร้อมด้วย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และผู้บริหารองค์กรหลัก เป็นที่ปรึกษา มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แนวทางบริหารจัดการ และสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข ให้มีสุขภาพกายแข็งแรง จิตใจดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยเอื้อต่อการเรียนรู้ จากนั้นจึงได้มีการประชุมคณะทำงานฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ได้มีการเตรียมการสำหรับการทำงานในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. จัดทำและเตรียมความพร้อมแพลตฟอร์มระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และ School Health Hero เพื่อให้การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลนำไปต่อยอดทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เชื่อมโยงและสร้างความเข้าใจระบบการเฝ้าระวังและคัดกรองที่มีมาตรฐาน ด้วย 9sPlus และระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนและลดภาระให้กับครู

3. ค้นหาความเสี่ยงของนักเรียนอย่างรอบด้านและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ

4. พัฒนาครู ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลนักเรียน ให้มีความรู้พื้นฐานในการดูแลส่งเสริมสุขภาพจิต ด้วยระบบ E-Learning

5. สร้าง Hero Consultant Networking ที่ครอบคลุมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และกำหนดช่องทางการเข้าถึงทั้งในรูปแบบ Online และรูปแบบ Walk in

6. พัฒนาเครื่องมือและระบบการรายงานข้อมูล และแผนการขยายผลให้มีความครอบคลุมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและบริบท ทั้งเด็กกลุ่มปกติและกลุ่มการศึกษาพิเศษ

7. จัดทำแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ เพื่อให้คุณครู และผู้บริหารได้มีแนวทางในการจัดการกับปัญหา หากมีเคสกรณีต่างๆ เกิดขึ้น อาทิ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ยาเสพติด ภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มการทำร้ายตนเอง เป็นต้น

ทั้งนี้ จะมีการประชุมและวางแผนการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อเร่งการดำเนินการในมิติต่างๆ ต่อไป เพื่อให้นักเรียนได้รับการดูแลส่งเสริมเพิ่มความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ พร้อมสำหรับป้องกันเหตุและภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งในส่วนของ สพฐ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามแนวทางของคณะกรรมการชุดนี้ และกำชับให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องรีบขับเคลื่อน พร้อมตระหนักถึงการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลให้มีประสิทธิภาพ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของคณะกรรมการฯ ชุดนี้