สพฐ. ลุยเร่งด่วน ตามนโยบาย รมว.ศธ. ประสานเครือข่าย หนุนเด็กรักการอ่าน สู้ภาวะ Learning Loss

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สพฐ. รักการอ่าน : แก้ปัญหา Learning Loss ด้วยการอ่าน” เพื่อการฟื้นฟู เติมความรู้ ส่งเสริมการอ่าน แก้ภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการแนะแนว นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) จาก 6 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย นายพิเชฐร์ วันทอง ผอ.สพป.กรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ ธรรมลังกา ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1 นายประสิทธิ์ หนูกุ้ง ผอ.สพป.สงขลา เขต 1 นายถาวร คูณิรัตน์ ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 1 ว่าที่ร้อยตรี สุรสิทธิ์ ถิตย์สมบูรณ์ ผอ.สพป.สระแก้ว เขต 2 และนายมงคล รุ่งสว่าง ผอ.สพป.อ่างทอง ร่วมพูดคุยชี้แจงแนวทางส่งเสริมการรักการอ่านในสถานศึกษา ผ่านกิจกรรมที่ให้ใช้หนังสืออ่าน จับประเด็น ต่อยอดความรู้ เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เริ่มจากการเลือกหนังสืออ่านของนักเรียนเอง โดยถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting และสถานี OBEC Channel ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจ ได้รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกคน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม อารมณ์ รวมไปถึงการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งได้รับความเครียดจากการที่โรงเรียนต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากที่โรงเรียน มาเรียนกันที่บ้าน รวมถึงความไม่พร้อมในบรรยากาศทางการเรียน ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา การจัดการเรียนการสอนไม่อาจตอบโจทย์การพัฒนานักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือความต้องการในรายบุคคล ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ขณะนี้จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนานักเรียนให้ได้รับทั้งความรู้ พัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ และเรื่องนี้ ก็เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ที่มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ในปีการศึกษา 2565 นี้ เราจะช่วยกันเสริม เติมเต็ม ฟื้นฟู องค์ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะของนักเรียนที่อาจจะขาดหายไป หรือไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งการอ่านและการร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านจะเป็นช่องทางสำคัญอีกหนึ่งช่องทางที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ ปรับมุมมอง มีทัศนคติที่ดี สร้างเสริมคุณลักษณะ และทักษะสำคัญได้ โดยนักเรียนมีความสุข สนุกสนาน ร่วมกิจกรรมตามความสนใจ และศักยภาพ งานนี้จึงเป็นงานที่มีความสำคัญ ซึ่งการทำงานของทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน และคุณครู จะช่วยก่อให้เกิดนวัตกรรมจากฝ่ายปฏิบัติ และเกิดประโยชน์กับนักเรียน และนำวิธีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายไปเผยแพร่ให้กับโรงเรียนอื่นได้นำไปปรับใช้ต่อไป

“สพฐ. รู้สึกยินดีที่หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ และสำนักพิมพ์เอกชน เครือข่ายที่สำคัญร่วมในการสนับสนุนหนังสืออ่านเพิ่มเติมให้แก่นักเรียน ในนามของ สพฐ. ขอขอบคุณมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย สำนักพิมพ์เอกชนต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนหนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่าน อีกทั้งต้องขอบคุณผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 6 เขต และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 24 โรง ที่มาร่วมมือกันใช้การอ่านเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนเพื่อแก้ปัญหาจากภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้ และเสริมสร้างพัฒนาการให้กับนักเรียนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งสร้างจินตนาการจากการอ่าน เป็นจุดเริ่มความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ และข้อคิดจากหนังสือเป็นแรงบันดาลใจในด้านคุณลักษณะได้เป็นอย่างดี จากที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับจุดที่เชียงราย ณ โรงเรียนบ้านขัวแคร่ พบว่านักเรียนชอบและมีจินตนาการเล่าเรื่องราวในเรื่องที่ตนเองอ่านได้อย่างเข้าใจ และยังนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาใช้ในชีวิตประจำวัน และเข้าใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นนี้คิดว่าทุกโรงเรียนน่าจะมีสิ่งดี ๆ ในการส่งเสริมเรื่องนี้ในทุกเขตพื้นที่ ต้องขอบคุณความเข้มแข็งในการร่วมมือของทุกฝ่าย เราจะเห็นความสำเร็จในการพัฒนาเด็กร่วมกันค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สวก. ได้กล่าวเสริมว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ได้ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสองปีการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ On-Site มาเป็นการเรียนรู้ที่บ้านในลักษณะ Online, On-Demand และ On-Hand เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าว โดยปรับการจัดการเรียนรู้ตามสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดของนักเรียน จากความจำเป็นดังกล่าว ถึงแม้ว่าในปีการศึกษา 2565 นี้ โรงเรียนส่วนใหญ่จะเปิดสอนในรูปแบบ On-Site ได้แล้ว แต่ผลจากการปิดโรงเรียนและการปรับรูปแบบการเรียนรู้ในระยะที่ผ่านมา ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของนักเรียน สพฐ. จึงเห็นถึงความสำคัญของการอ่านว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงสร้างเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี จึงได้กำหนดจัดทำโครงการ สพฐ. รักการอ่าน : แก้ปัญหา Learning Loss ด้วยการอ่าน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายนำร่องที่จะดำเนินการเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 6 เขต คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง โดยมีโรงเรียนในโครงการ 24 โรง ประกอบด้วยโรงเรียนขนาดเล็ก 12 โรง และขนาดกลาง 12 โรง

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว สวก. ได้รับความอนุเคราะห์หนังสือส่งเสริมการอ่านบางส่วนจาก มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย สำนักพิมพ์เอกชนต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่ สวก. จัดเตรียมไว้ รวมจำนวน 4,942 เล่ม ซึ่งขณะนี้ได้จัดส่งหนังสือไปยังโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว