กาญจนบุรีเคลื่อนที่ต่อเนื่อง Active Learning 100% ทั้งพื้นที่

วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” ร่วมกับคณะทำงาน One Team 5 สำนัก สพฐ. ประกอบด้วย สวก., สทศ., สบว., สบน., ศนฐ. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมบรรยายพิเศษและจัดกิจกรรม โดยมี นายสมหมาย เทียนสมใจ ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 1 ว่าที่ร้อยเอก พรเนตร ศรีทอง รอง ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 1 รวมถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน ฝ่ายวิชาการ ศึกษานิเทศก์ และครูในสังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 1 จำนวน 200 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมราชศุภมิตร จ.กาญจนบุรี และถ่ายทอดสดทาง Youtube ‘Active Learning’ สพป.กาญจนบุรี เขต 1

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อน AL ของสพป.กาญจนบุรี เขต 1 ครั้งนี้ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการเคลื่อน AL ของจังหวัดกาญจนบุรีที่ได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญคือการนำความรู้ที่ได้รับ ลงถึงห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถดำเนินการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ทำให้ไม่เป็นภาระกับครู โดยขอแค่ครูเข้าใจกรอบแนวคิดของ Active Learning และสมรรถนะ ควบคู่ไปกับการที่ ผอ. พานำ พาทำ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนต้องเข้มแข็ง สามารถเป็นผู้นำทางวิชาการให้กับครูได้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น และต้องสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน และส่งเสริมให้เกิด PLC ครูเพื่อนักเรียน เสริมทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมืองและองค์กร ก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของนักเรียน ครูจะต้องเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน และเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพของแต่ละคน การให้นักเรียนแต่ละคนได้ต่อยอดการเรียนรู้ของตนเอง ควบคู่กับการลดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน ลดภาระงาน นำมาเพิ่มเวลาให้นักเรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติและเห็นคุณค่าต่อความรู้ และทักษะนั้นๆ สิ่งใดที่นักเรียนอยากเรียนรู้ต้องได้รู้ ส่วนในด้านครูผู้สอนนั้น ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และเขตพื้นที่ต้องให้อิสระในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ AL ให้กับคุณครู โดยที่ไม่ยึดติดรูปแบบ โดยได้ให้โอกาสให้นักเรียนในการคิด มีส่วนร่วม และเข้าใจเนื้อหาสอดคล้องกับจุดประสงค์ในแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีขั้นนำ จัดกิจกรรมและสรุปอยู่แล้ว แต่ให้ครูได้ทราบถึงเป้าหมายปลายทางที่สำคัญ และไม่ยึดติดตำรา ลดเนื้อหาซ้ำซ้อน หลอมตัวชี้วัด ซึ่งเป็นแนวทางทำให้นักเรียนเกิดสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯได้ ขณะที่ ผอ.รร. จะต้องสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีความสุขให้ครู โดยเป็นต้นแบบในการทำสิ่งที่ดี คิดดี มีทัศนคติเชิงบวก อีกทั้งเป็นผู้นำทางวิชาการ นำพาโรงเรียนขับเคลื่อนจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยอำนวยความสะดวกให้ใช้แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนให้เป็นหน่วยบูรณาการที่ใช้แทนห้องเรียนเพื่อจะได้ต่อยอดถึงขั้น Apply ได้ง่ายขึ้น

“โอกาสแห่งการคืนครูสู่ห้องเรียน คืนความเป็นครูที่จะต้องปลูกฝังและบ่มเพาะให้นักเรียนทุกคนเกิดคุณลักษณะ ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนของเราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและเป็นคนดีของบ้านเมืองต่อไปในอนาคต นี่คือมิติใหม่ในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของ สพฐ. ที่กำลังเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องด้วยการนำของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ผ่าน Active Learning” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว