“ตรีนุช” ชื่นชม สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะไขปัญหาการเรียนรู้ถดถอย

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ดร.อัมพร  พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเติมเต็มภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาศักยภาพนักเรียน โดยมี นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน จากว่าที่ร้อยตรี สำรวย นกงาม ผู้อำนวยการ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2

โดยนางสาวตรีนุช กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เผชิญความท้าทายผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ซึ่งรวมถึงผลกระทบที่มีต่อการเรียนการสอน ที่เกิดขึ้นกับคุณครูและนักเรียนทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ติดตามสถานการณ์โดยตลอด และได้ออกมาตรการสำคัญเพื่อเป็นการเยียวยาช่วยเหลือ ไม่ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ให้แก่คุณครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน การให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของนักเรียนรายละ 2,000 บาท รวมถึงปัจจุบันที่ยังคงเข้มงวดในมาตรการความปลอดภัย 6 – 6 – 7 ที่สถานศึกษาต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสเรียนหนังสือในรูปแบบ On site ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ได้ดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ ของ ศธ. เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ก็สามารถดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 กลับเข้าสู่ระบบได้ 100% และสพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ยังเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และที่นี่ยังเป็นแบบอย่างให้หลายพื้นที่ ผ่านวิกฤตร่วมกันในหลาย ๆ เรื่อง

ด้านว่าที่ร้อยตรี สำรวย นกงาม ผู้อำนวยการ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 กล่าวว่า สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ได้แก้ไขปัญหา Learning Loss  ในช่วงที่เด็กไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียนโดยจัดตั้งสถานีทีวีเพื่อการศึกษา AYA 2 CHANNEL เพื่อถ่ายทอดสด การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยจัดทำคลิปการสอนของครูที่เป็นครูต้นแบบในวิชาต่าง ๆ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนผ่านสถานีโทรทัศน์ AYA 2 CHANNEL โดยมีการกำหนดตารางสอนผ่านสถานีทีวีดิจิทัล AYA 2 CHANNEL  ที่ชัดเจน โดยในระดับปฐมวัยมี 4 กิจกรรมหลัก และการจัดการเรียนการสอนในช่วงชั้นต่าง ๆ เน้นสอนตามหลักสูตร ที่สอดคล้องตามบริบท ดังนี้ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 – ป.3) สอนภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4 – ป.6) สอนวิทยาศาสตร์กับภาษาอังกฤษ ส่วนมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) สอนงานอาชีพ และมีการต่อยอดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนโดยสร้างตู้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะขึ้น ซึ่งใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ครูใช้สอนออนไลน์ได้ เป็นต้น

จากนั้น รมว.ศธ. และคณะได้ลงพื้นที่ดูการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนคอตัน อำเภอบางซ้าย ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบ DLTV มีรูปแบบการเติมเต็ม Learning Loss และทดลองใช้ตู้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะโดยชุมชนเป็นฐาน และเยี่ยมชมผลงานนักเรียนที่เกิดจากการจัดกิจกรรม Active Learning