ศธ. รับมอบสื่อพัฒนา EQ นักเรียน “Hoppy & Happy เต้นให้สนุก ฝึกสติให้ใจมีพลัง”

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานรับมอบสื่อการเรียนรู้ โครงการการพัฒนา EQ และเสริมสร้างความสุขแก่นักเรียน โดยการปฏิบัติการเต้น เคลื่อนไหวด้วยสมาธิหรือการทำโยคะ “Hoppy Happy for Thai Children and Youth” ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มทีมงาน Meditation Plus และมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย แพทย์หญิงกุหลาบ จิตต์มิตรภาพ และแพทย์หญิงวิไล ธนสารอักษร เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อการเรียนรู้ ในโอกาสนี้ แพทย์หญิงกุหลาบ จิตต์มิตรภาพ ได้รายงานวัตถุประสงค์ของการจัดทำสื่อการเรียนรู้ “Hoppy & Happy เต้นให้สนุกและฝึกสติให้ใจมีพลัง” ให้ รมว.ศธ. ได้รับทราบ พร้อมด้วยนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้นำเสนอผลการใช้ในโรงเรียนนำร่องสังกัด สพฐ. และสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และนางภารดี ผางสง่า นำเสนอผลการใช้ในโรงเรียนวัดอมรินทราราม โดยมีคณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดอมรินทราราม รวมถึงสื่อมวลชน ผู้ที่สนใจ เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนไทยทั้งในเรื่องความเครียดและการรับมือกับปัญหาหรือความรุนแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งควรจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ จึงได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำงานร่วมกับกลุ่มทีมงาน Meditation Plus นำโดย แพทย์หญิงกุหลาบ จิตต์มิตรภาพ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ และแพทย์หญิงวิไล ธนสารอักษร ซึ่งได้นำเสนอโครงการ “Hoppy Happy for Thai Children and Youth” เพื่อพัฒนา EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) และการสร้างความสุขแก่เด็กและเยาวชน โดยการทำสมาธิและการเต้นและเคลื่อนไหวโดยใช้เสียงเพลง เพื่อให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับปัญหาหรือความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสภาพปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยปัจจุบันที่พบในสื่อต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ และความรู้ความฉลาดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ชีวิตมีความสุข กลุ่มทีมงาน Meditation Plus จึงมีความปรารถนาดีที่จะนำความรู้และผลงานวิจัยจากต่างประเทศ เกี่ยวกับการพัฒนา EQ และสมาธิมาพัฒนาสื่อการเรียนรู้ (คลิปวิดีทัศน์ “Hoppy & Happy เต้นให้สนุกและฝึกสติให้ใจมีพลัง”) ที่จะเป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนไทย

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า จากการรายงานของกลุ่มทีมงาน Meditation Plus พบว่าสมาธิของนักเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง หรือจากการเรียนวิชาหนึ่งไปอีกวิซาหนึ่ง ซึ่งในทางวิจัยพบว่า หากทำให้คลื่นสมองที่กระตุ้นจากความวุ่นวายหรือตื่นเต้น ค่อย ๆ ผ่อนลง เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสารสื่อประสาท อารมณ์และสมองจะพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และส่งผลในระยะยาวต่อการนำไปใช้ปรับอารมณ์ความเครียด และแก้ปัญหาด้วยตนเอง ดังนั้น ด้วยการทำสมาธิ การเต้นและเคลื่อนไหวโดยใช้เสียงเพลง จะช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของนักเรียน ทำให้นักเรียนสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น สามารถรับมือกับสภาพปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันได้ รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อการฝึกสมาธิ จะส่งผลในระยะยาวต่อนักเรียนในการนำไปใช้ปรับอารมณ์ความเครียด และการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตลอดจนการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีสติและมีความสุข

“ต้องขอขอบคุณทีมงาน Meditation Plus รวมถึงศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการทำสื่อฯ ในโครงการนี้ ถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมาก ทำให้เกิดคลิปวิดีโอ Hoppy & Happy เต้นให้สนุกเพื่อฝึกสติให้ใจมีพลัง แล้วก็ได้นำสื่อที่มีคุณค่านี้มามอบให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตนเองได้มีการพูดคุยกับแพทย์หญิงกุหลาบและแพทย์หญิงวิไลเมื่อหลายเดือนก่อน ได้เห็นเจตนารมณ์ความตั้งใจที่จะทำโครงการดีๆ เพื่อพัฒนาจิตใจและเสริมสร้าง EQ ให้กับน้องๆ เยาวชนกว่าหลายหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ สื่อนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับสถานการณ์หลังเปิดภาคเรียนที่พบว่าน้องๆ มีสภาวะความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า การพัฒนาจิตใจและสมองควบคู่ไปกับร่างกายที่แข็งแรง จะทำให้เด็กมีสติ มีสมาธิ มีความตั้งมั่น ก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะความเครียดขณะนี้ซึ่งมีความจำเป็นที่คุณครูต้องมีเครื่องมือและสื่อต่างๆ เข้ามาช่วยด้วย ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่คุณครูต้องเผชิญนอกจากการทำหน้าที่สอนอย่างเดียว โดยต้องช่วยกันดูแลสภาพจิตใจของเด็กๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิตและสภาพเศษฐกิจ กระทรวงศึกษาธิการขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของเรา ซึ่งนอกจากจะเป็นคนเก่งแล้ว ต้องเป็นคนดี มีจิตใจเข้มแข็ง และมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่ตั้ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำสื่อการเรียนรู้ (คลิปวิดีทัศน์) ลงสู่การปฏิบัติในโรงเรียน แบ่งเป็น ระยะที่ 1 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องการพัฒนา จำนวน 1,262 โรงเรียน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต (แต่ละเขตพื้นที่มีจำนวนโรงเรียนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมและสมัครใจ) และสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 177 สถานศึกษา ประกอบด้วย 1) โรงเรียนเฉพาะความพิการ 47 โรงเรียน 2) โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 52 โรงเรียน 3) ศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 ศูนย์ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนในระยะที่ 2 จะขยายผลในโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับคณะวิจัยจากภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาประยุกต์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำโดย รศ.เพ็ญนภา กุลนภาดล ทำการวิจัยผลการนำสื่อการเรียนรู้ (คลิปวิดีทัศน์) ไปใช้ในโรงเรียนวิจัยฯ โดยคัดเลือกจาก 6 ภูมิภาค ภาคละ 2 จังหวัด จังหวัดละ 2 โรงเรียน รวมเป็น 12 จังหวัด 24 โรงเรียน โดยจะเก็บตัวอย่างจังหวัดละ 20 คน รวมทั้งสิ้น 2,400 คน ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 มีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 (อายุประมาณ 9-12 ปี) เป็นช่วงที่เด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งพัฒนาการทางด้านจิตใจมักมีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางร่างกายที่เติบโตขึ้น และอาจมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้กำหนดจังหวัด แล้ว สพฐ. ประสานงานคัดเลือกโรงเรียนจากโรงเรียนนำร่องการพัฒนา โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อสนับสนุนการวิจัยดังกล่าว และผลการวิจัยจะนำมาใช้เพื่อปรับปรุงขยายผลโครงการในระยะต่อไป

“สพฐ. คาดหวังว่า กิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการศึกษาเรียนรู้ การทำกิจวัตรประจำวันของนักเรียน การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น และการพัฒนาตนเองให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีสติและมีความสุข ช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด วิตกกังวล ทำให้นักเรียนตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง สามารถเข้าใจอารมณ์ มีความเมตตาต่อตนเอง และสามารถบริหารจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ อีกทั้งช่วยให้นักเรียนเข้าใจผู้อื่น สามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และช่วยให้นักเรียนมีความสนใจ ความจดจ่อ ทำงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้อย่างลุล่วง โดยโรงเรียนสามารถนำสื่อฯ ไปใช้จัดกิจกรรมได้ทุกชั้นเรียน ในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน ช่วงบ่ายก่อนเข้าเรียน ระหว่างเปลี่ยนวิชาเรียน หรือก่อนเลิกเรียนก็ได้ และจะได้ผลดีเมื่อจัดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ตามความเหมาะสม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว