ศธ.-สพฐ. ร่วมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 40 “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม”

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งทั่วประเทศ ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม” ณ โรงแรมนภาลัย อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมบรรยายให้ความรู้ อาทิ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และทีมที่ปรึกษาพิเศษ สพฐ. ได้แก่ นายปัญญา แก้วกียูร นายโรจนะ กฤษเจริญ และนายสนิท แย้มเกษร ซึ่งนอกจากงานสัมมนาดังกล่าว ยังมีการแสดงนิทรรศการการจัดการศึกษาของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการศึกษาดูงานโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 72 (เทศบาล 8) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี อีกด้วย

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 40 เป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา เพิ่มพูนความรู้ ทั้งด้านวิชาการ การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของโรงเรียน ครู กรรมการสถานศึกษา เครือข่ายต่าง ๆ และการมอบหมายนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการบริหาร และพัฒนาโรงเรียนให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการพัฒนาคุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ในการทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง เพื่อให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยามีการพัฒนาที่ก้าวไกล

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ ตนเชื่อว่าเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหารทุกคนจะได้รับทราบถึงนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการจัดการศึกษาในทศวรรษใหม่ ซึ่งจากรายงานของคุณมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสและกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ทำให้ทราบว่า เมื่อองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้นายกำพล วัชรพล เป็นบุคคลสำคัญของโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐ ได้เพิ่มจำนวนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาอีก 10 โรงเรียน เพื่อร่วมในการเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญดังกล่าว ด้วยความเห็นซอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 5 (ระหว่างพ.ศ. 2563-2566) โดยให้เพิ่มวิชาเรียนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่นด้วยกัน 2 วิชา ได้แก่ วิชาความรอบรู้เรื่องสื่อมวลชน และวิชาความเป็นพลเมืองดี ซึ่งทั้ง 2 วิซานี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างผลผลิตทางการศึกษาเพื่อมารับใช้และพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

“ผมขอชื่นชมเครือข่ายโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่ได้มีการพัฒนาบุคลากรของตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง โดยศิษย์เก่าของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยามาถึง 39 ครั้ง จำนวน 39 ปีติดต่อกัน เพื่อที่จะพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง 111 แห่งทั่วประเทศ การสัมมนาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 40 ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม” จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้ ซึ่งครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยาก็จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญของประเทศไปได้อย่างดี” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ทางด้าน นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ กล่าวว่า ในโรงเรียนไทยรัฐวิทยานั้น เราได้ทำความตกลงกับ สพฐ. ในการเพิ่มการเรียนการสอนในวิชาสำคัญที่นอกเหนือไปจาก 8 สาระการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้ว อีก 2 วิชา คือ วิชาความฉลาดรู้เรื่องสื่อกับวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม สำหรับปีการศึกษาหน้าก็จะเพิ่มลงไปให้มีการเรียนการสอนอีกวิชาหนึ่ง คือวิชาประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เพราะได้ตระหนักวิชาการสั่งสมความรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ตามสมควรแก่ช่วงชั้นและวัยของนักเรียน นอกจากนี้ยังจะช่วยให้นักเรียนรู้จักตัวเอง มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ และเพื่อเป็นการสนองตอบเจตนารมณ์ที่ดีของ รมว.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. ที่ต้องการจะฟื้นฟูวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นมาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ โดยวิชาประวัติศาสตร์ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับศาสตร์แขนงต่างๆ ที่นักเรียนจะได้เรียนสูงๆ ขึ้นไป ที่เกี่ยวข้องกับวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานที่เป็นประสบการณ์หรือเป็นบทเรียนของมนุษย์ในอดีต ซึ่งก็คือวิชาประวัติศาสตร์นั่นเอง