สพฐ. ขับเคลื่อนเข้ม เน้นเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติ

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการเป็นประธานการประชุมปฏิบัติการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และปรับปรุง (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ระดับประถมศึกษา ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ ผู้บริหาร ครู จากโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และคณะทำงาน รวม 120 คน ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดของหลักสูตรการศึกษาไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เป็นการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เปลี่ยน ‘ห้องเรียน’ เป็น ‘ห้องเรียนรู้’ เพิ่ม “ห้องเรียนรู้” เป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียน” เพิ่ม “ครู” จาก “ปราชญ์ท้องถิ่น” เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้แบบมีความหมาย ได้คิด เพื่อคิดได้ ได้ทำ เพื่อทำเป็น และเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง เป็นรากแก้วที่สำคัญของกิ่งก้านอื่นๆ จะเกิดต้นไม้ที่สมบูรณ์

สำหรับการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการดีที่ได้มีการทบทวนกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช … ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดทำเป็นร่างกรอบหลักสูตรฯ และก่อที่จะนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 185 โรงเรียน ที่จะเป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลองเพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาร่างกรอบหลักสูตรฯ ดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีโรงเรียนใดที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักสูตรสถานศึกษา ดังนั้น สิ่งที่ดำเนินการในปัจจุบัน คือ อยู่ในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและนำมาสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ซึ่งรับผิดชอบโดย กลุ่มพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ (สวก.) และเมื่อได้วิเคราะห์ถึงแนวทางการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษานั้น ยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถทำให้บรรลุถึงห้องเรียนได้ คือ การแตกผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เป็นก้อนใหญ่ในระดับช่วงชั้น ลงสู่ระดับชั้นปีและในรายวิชา ซึ่งจุดเน้นสำคัญไม่เพียงแค่สมรรถนะตามหลักสูตรเท่านั้น แต่คุณลักษณะเป็นสิ่งสำคัญที่จะติดตัวนักเรียนไปในการทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมต่อไป

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่ครบทุกด้านตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่มีเป้าหมายชัดเจน ทั้งในด้านมาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะ นั่นแสดงให้เห็นว่า หลักสูตรฯในปัจจุบันก็สามารถทำให้นักเรียนถึงสมรรถนะสำคัญ 5 ประการได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่ง เพียงแค่ให้ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญในการรวมครูเพื่อร่วมกันวางแผนออกแบบ การบูรณาการเนื้อหา ตัดทอนเนื้อหาทึ่ซ้ำซ้อน รวบตัวชี้วัด และครอบเนื้อหาใหม่ทึ่เข้ากับบริบทของโรงเรียนหรือจะอาศัยแหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนเป็นหน่วยบูรณาการก็ได้ ซึ่งจะไปสู่กระบวนการ Active learning ได้ง่าย โดยให้นักเรียนได้คิดทุกชั่วโมง ทุกวิชา คิดอย่างอัตโนมัติ ไม่เพิ่มภาระงาน แต่นักเรียนจะมีเวลาเพิ่ม และเข้าใจ เข้าถึงความรู้แบบมีความหมาย และรู้ว่าสิ่งที่เรียนไปเกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน สร้างเวที และสถานการณ์ให้นักเรียนในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ทักษะ และเห็นคุณค่าในการปฏิบัติงานจนสำเร็จ แล้วเติมเต็มด้วยเครือข่ายแหล่งเรียนรู้นำมาบูรณาการเข้าสู่ห้องเรียน เพราะแหล่งเรียนรู้เป็นระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ใช้ความรู้บนฐานของการปฏิบัติจริงจากปราชญ์ท้องถิ่น ที่มีการบ่มเพาะประสบการณ์จนกลายเป็น Soft power ของความเป็นไทยได้ครบทุกมิติ

“ทั้งนี้ ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรฯ ปัจจุบัน หรือการดำเนินการจากร่างกรอบหลักสูตรฯ ใหม่ ก็สามารถพัฒนานักเรียนได้ถึงคุณภาพและสมรรถนะได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงแค่ทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันคือคุณภาพนักเรียน พร้อมขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในแนวทางของการพัฒนาหลักสูตรใหม่นี้จะเป็นแนวทางที่ผ่านกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อจะสามารถรับรองได้ว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน และไม่เพียงแต่มาตรฐานการเรียนรู้ หรือผลลัพธ์การเรียนรู้, สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนหรือสมรรถนะหลักนั้น ก็ไม่สำคัญเท่าคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ 1.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์ สุจริต 3.มีวิยัย 4.ใฝ่เรียนรู้ 5.อยู่อย่างพอเพียง 6.มุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย 8.มีจิตสาธารณะ ที่ต้องบ่มเพาะให้เกิดกับเด็กไทย เพื่อเป็นคนดีของสังคม ไม่ใช่แค่เพียงท่องจำ แต่กระบวนการต่างหากที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรจึงเกิดขึ้นที่ตัวนักเรียน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว