สพป.กรุงเทพมหานคร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างสมรรถนะครูผู้ช่วย สู่การเป็นครูมืออาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

วันที่ 24 กันยายน 2565 ดร.พิเชฐร์ วันทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างสมรรถนะครูผู้ช่วยสู่การเป็นครูมืออาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.อัจฉรา โยมสินธ์ และนายธวัชชัย มิตรโกสุม นิติกรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มกฏหมายและคดี เป็นวิทยากร ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมรับฟังการอบรม ประกอบด้วย ดร.ยุทธนา สำราญกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม/หน่วย ข้าราชการครูบรรจุใหม่ และบุคลากรทางการศึกษา ณ หอประชุมท่านผู้หญิงละเอียด โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร

ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้บรรยายพิเศษ “การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่สมรรถนะของครูผู้สอนศตวรรษที่ 21” ให้ข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย จากโรงเรียนในสังกัด สพป.กทม. จำนวน 97 คน มีผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่ รวมทั้งหมด 120 คน ร่วมฟังการบรรยาย ณ หอประชุมท่านผู้หญิงละเอียด โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งครูรุ่นใหม่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดคุณภาพกับนักเรียนเพราะต้องสั่งสอนนักเรียนอีกมากมายไม่รู้อีกกี่รุ่นต่อกี่รุ่น จึงต้องเป็นต้นแบบและแบบอย่างได้ อีกทั้ง “ครู” ได้รับเกียรติและยกย่องว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง จึงต้องปฏิบัติตนให้สมกับที่ได้รับการยกย่อง ด้วยการสร้างคุณภาพ ความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ชุมชน โดยการดูแลบุตรหลานของชุมชนอย่างรอบด้านครบทุกมิติ ทั้งในด้านคุณภาพวิชาการ ด้านคุณธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อพิสูจน์ที่สร้างความเชื่อมั่น และความศรัทธาให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น การจัดการเรียนรู้ของคุณครูทุกคน แบบครบมิติ ผู้บริหารต้องมีหน้าที่สร้างการขับเคลื่อน หนุนเสริม เติมต่อ เป็นผู้นำพาทำ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้จะให้ผลเป็นรูปธรรมเกิดกับนักเรียน
.
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการปรับกระบวนการสอน ให้หารูปแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกันที่จะก่อให้เกิด 3 เรื่องที่สำคัญ คือ มาตรฐาน/ตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ด้าน ซึ่งต้องเกิดกับนักเรียนทุกคน และถือเป็นหน้าที่ของครูและผู้บริหารในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรชาติ พร้อมทั้งปรับรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย อย่ายึดติดตำรา ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย และสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นหลัก โดยการใช้กระบวนการ plc แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครู เพื่อหาวิธีการหรือรูปแบบในการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้รับการเติมเต็มศักยภาพตามความถนัดและสนใจ นอกจากนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง โดยแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากเครือข่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. ที่ต้องการให้การศึกษายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างแท้จริง
.
ดร.เกศทิพย์ กล่าวอีกว่า การมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร ทำงานอย่างเต็มศักยภาพเพื่อองค์กรของเรา เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาการศึกษา จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีพลังไปพร้อมกัน และคุณภาพจะเกิดขึ้นทั้งประเทศทุกที่พร้อมๆ กัน จะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยโอกาส ขึ้นอยู่กับการคิดใหม่ ทำใหม่ ให้แตกต่าง และสิ่งสำคัญคือ “การคิดบวก บนพื้นฐานของความเป็นจริง และมีทัศนคติที่ดี จะดึงดูดให้ทำแต่สิ่งดี ไม่มีเวลาคิดสิ่งที่ไม่ดี จะทำให้เกิดคุณค่าต่อตนเอง และภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ” ดังนั้น เราต้องช่วยกันสร้างความภาคภูมิใจในองค์กร มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ และสร้างศรัทธาให้เกิดกับวิชาชีพและความเป็นครู ซึ่งไม่ใช่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราพูดเอง แต่มาจากคนอื่นที่มองและพูดถึงเรา ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม สมกับความเป็นครู
.
“อีกเรื่องที่สำคัญคือการส่งเสริมให้นักเรียนของเรา ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย เห็นคุณค่าใน ศิลปะ วัฒนธรรม ความเป็นไทย ซึ่งในสายตาของชาวโลกมองสิ่งเหล่านี้ว่ามีคุณค่ามหาศาล และเราโชคดีที่เกิดมามีรากเหง้าที่ทิ้งมรดกหรือขุมทรัพย์ทางปัญญาให้มากมาย มีอารยะที่เป็นตัวตนของชาติตนเอง ที่ไม่มีชาติใดมีแบบชาติเรา ซึ่งเด็กยุคใหม่มีความอดทนมากกับสิ่งที่เขาชอบ เราจึงต้องค้นหาและเปิดประตูให้นักเรียนได้เดินมาสู่สิ่งที่ชื่นชอบและสนใจ แล้วการเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างมีความสุขและประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นักเรียนจะสนุกกับการเรียนรู้และภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง สุดท้ายนี้ สิ่งที่ขอชื่นชมก็คือ ผู้บริหารเขตพื้นที่ ที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา “ครูผู้ช่วย” ให้มีคุณภาพ และเป็นแบบอย่างที่ดี ร่วมรับฟังตลอดการบรรยาย พร้อมยังติดตามการนำสู่ห้องเรียนเพื่อให้ผลไปถึงผู้เรียนทุกคน อีกทั้งผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ก็ให้ความสนใจ ตั้งใจเป็นอย่างดี ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ครูรุ่นใหม่ของเราจะได้นำความรู้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและแบ่งปันความรู้ที่ได้รับกับครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนของตนเองต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว…