สพฐ. เตรียมพร้อมคุณภาพจุดภาคเหนือเฟส2 การสื่อสารสองทาง สร้างโอกาส 3 โรงเรียนปลายทาง โดยต้นทางโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและร่วมประชุมโรงเรียนในโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะที่ 2 ภาคเหนือ ณ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย สังกัด สพม.เชียงราย ซึ่งมีโรงเรียนปลายทาง จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม สพม.เชียงราย โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม สพม.เชียงใหม่ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) สพป.เชียงราย เขต 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนปลายทางในโครงการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครูในโครงการ และพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้มีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีผู้ร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย ทีมบุคลากร สพฐ. ได้แก่ ผอ.สทร., ผอ.สวก., รอง ผอ.สทร., รอง ผอ.สวก., ผอ.กลุ่มส่งเสริมพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สทศ., หัวหน้ากลุ่มการส่งเสริมการนิเทศการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศนฐ. และนายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการในภูมิภาคโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะที่ 2 ภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนประธานกรรมการและผู้ตรวจราชการกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการที่ 16 (รอง ผอ. สพป. เชียงราย เขต 1) ผู้แทนประธานกรรมการและผู้ตรวจราชการกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการที่ 15 (ผอ. สพป.เชียงใหม่ เขต 2) ผอ.สพม.เชียงราย ผอ.สพป.เชียงราย เขต 3 และผู้อำนวยการโรงเรียนต้นทางและปลายทาง ได้แก่ ผอ.รร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ ผอ.รร.ราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ผอ.รร.บ้านแซววิทยาคม และผอ.รร.อมก๋อยวิทยาคม

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมวันนี้ พบว่าโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง ร่วมกันพัฒนานักเรียนอย่างดี ก้าวข้าวอุปสรรคในเฟส 1 หาแนวทางให้นักเรียนปลายทางและต้นทางสามารถเรียนด้วยกันได้อย่างดี ปัญหาต่างๆที่เกิดระยะแรก ได้รับการแก้ไขจากการร่วมมือของผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้ประสานงาน ครูผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยในโครงการระยะที่ 2 ยังเป็นโรงเรียนคู่เดิม ซึ่งโรงเรียนต้นทางเป็นโรงเรียนที่เสียสละ สนับสนุน ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ได้เครือข่ายที่เข้มแข็ง และโรงเรียนปลายทางได้รับโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น ได้ครูเพิ่มขึ้น กนะบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้เปิดโลกทัศน์ และมีเพื่อนเครือข่ายต่างโรงเรียน ส่วนครูได้เรียนรู้กับครูต่างโรงเรียน และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ จากประสบการณ์การดำเนินงานโครงการระยะที่ 1 ที่ผ่านมา ในระยะที่ 2 ซึ่งมุ่งคุณภาพ จึงได้เพิ่มทีมงาน คือ ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ จาก สพฐ. ส่วนกลาง ได้แก่ สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักทดสอบทางการศึกษา รวมถึงหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับทั้ง 20 โรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มุ่งที่ผลสัมฤทธิ์ที่ผู้เรียนทุกคนอย่างครบมิติ ร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมความแข็งแรงของโรงเรียนต้นทางและปลายทางทำให้มีประสิทธิภาพการดำเนินการมากขึ้น

พร้อมกันนี้ นางเกศทิพย์ ได้เน้นย้ำโรงเรียนให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในหลากหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของการมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพนักเรียนเป็นสำคัญ ทั้งนักเรียนของโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง โดย สวก. สทศ. และ ศนฐ. จะร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาร่วมกับโรงเรียนในด้านการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล รวมถึงการสื่อสารระหว่างโรงเรียนต้นทางกับปลายทาง และโรงเรียนปลายทางกับปลายทาง โดยใช้ PLC อีกด้วย ทั้งนี้ สพฐ. ได้หาวิธีช่วยให้โครงการนี้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพ และไม่ทำให้โรงเรียนต้นทางหรือปลายทาง เกิดความท้อแท้หรือเผชิญกับปัญหาโดยไม่มีผู้ช่วยร่วมคิด แต่จะมีผู้ช่วยเหลือ สนับสนุน ตลอดเฟส2 โดยจะแบ่งความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ซึ่งอุปสรรคและปัญหาบางส่วนได้ร่วมกันแก้ไขแล้ว และบางส่วนได้ขอให้เขตพื้นที่การศึกษา เข้ามาให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่อไป ถือเป็นภาพความร่วมมือทำคุณภาพนักเรียนโดยไม่มีรั้วโรงเรียน รั้วเขตมาเป็นข้อจำกัด ซึ่งเป็นภาพที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

“สิ่งที่อยากเห็นต่อไป คือ คุณภาพนักเรียนเชิงประจักษ์ ภายใต้ทีมขับเคลื่อนที่ร่วมกันก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ผ่านการพูดคุยวางแผนกัน และการแก้ปัญหาร่วมกันในทุก ๆ เรื่อง โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาช่วยเหลือสนับสนุน กำกับ ติดตามไปด้วยกัน สุดท้ายนี้ขอขอบคุณคณะครูผู้ประสานงาน ที่ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในโครงการระยะที่ 1 ขอบคุณโรงเรียนต้นทางที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ทำให้การดำเนินการเอื้อต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จ และขอบคุณโรงเรียนปลายทางที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้การจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง เห็นผลการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมค่ะ และที่สำคัญที่สุดที่ต้องขอบคุณคือ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เริ่มต้น ติดตาม ช่วยเหลือสนับสนุน ร่วมรับฟัง ร่วมแก้ปัญหา อนุเคราะห์อุปกรณ์ เครื่องมือที่ทำให้นักเรียนปลายทางได้รับโอกาสจากโรงเรียนที่มีความพร้อมสูงของโรงเรียนต้นทาง การเรียนการสอนที่มีมิติของการขยายห้องต่างโรงเรียน เพิ่มการพัฒนาให้พื้นที่เข้มแข็งด้วยตนเอง โดยมีมิติการสอนที่สามารถสื่อสารได้สองทาง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตของ สพฐ. ที่จะทำให้เกิดการพัฒนานักเรียนได้ทุกที่โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ คุณภาพจะเกิดได้อย่างเท่าเทียมกัน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมถ์ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชม ดีใจและมั่นใจในโครงการระยะที่ 2 ขอให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ทุกสิ่งที่เป็นประสบการณ์จากโครงการระยะที่ 1 ถือว่าไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเพียงข้อจำกัดเท่านั้น  และได้ร่วมกันแก้หมดแล้ว พร้อมที่จะยกระดับคุณภาพของ เฟส 2 ซึ่งภาพของนักเรียนทั้งปลายทางและต้นทาง ทำให้มั่นใจในการยกระดับคุณภาพเกิดขึ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นประเด็นท้าทายที่ทำได้เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ PA ได้เป็นอย่างดี

.

นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผอ.สทร. กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่เกิดปัญหา คือ โรงเรียนต้องมีแผนจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพครบตามหลักสูตร และได้มาตรฐานที่ผู้สอนทุกคนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรมีคณะกรรมการส่วนกลางทำหน้าที่รับผิดชอบในการทำงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทางในการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับครูต้นทางและปลายทาง จัดกิจกรรมสำหรับครูและนักเรียนต้นทางและปลายทาง เป็นต้น ซึ่งการจัดการเรียนการสอนแบบการสื่อสารสองทางควรเป็นไปตามปกติ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ควรคิดว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการพัฒนาร่วมกัน

นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สวก. กล่าวว่า โครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยมุ่งยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผ่านการเรียนการสอนเป็นทีมของครูต้นทางและครูปลายทาง (Team Teaching) วางแผนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ปรับการเรียนรู้ให้เป็น Active Learning อีกทั้งยังเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับครู ครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงช่องทางการสื่อสารต่างๆ มีการใช้หลักการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ใช้หลักการประเมินคุณภาพ และความสามารถที่หลากหลายของผู้เรียนรวมถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียน และมีการวางระบบบริหารจัดการและสร้างการรับรู้ สื่อสารกับหน่วยงานต้นสังกัด ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

.

นายฉัตรชัย หวังมีจงมี ผอ.กลุ่มส่งเสริมพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สทศ. กล่าวว่า ครูผู้สอนโรงเรียนต้นทางและปลายทางมีการวางแผนการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ร่วมกัน โดยจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ใบงาน แบบฝึกหัด และแบบทดสอบ ทำให้การจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลของโรงเรียนปลายทางมีคุณภาพได้มาตรฐานขึ้นด้วย อีกทั้งในระหว่างที่ทำการจัดการเรียนรู้ ครูต้นทางและครูปลายทางมีการซักถามนักเรียนอยู่ตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียน หากนักเรียนยังไม่เข้าใจครูปลายทางจะดำเนินการสอนเสริมให้นักเรียนนอกเวลา ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ในปีการศึกษา 2562-2564 พบว่า นักเรียนทั้งต้นทางและปลายทางมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแต่ละวิชาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2564 พบว่า ผลการทดสอบของนักเรียนต้นทางและปลายทางสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติอีกด้วย

นายสมเจตน์  พันธ์พรม  หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการนิเทศการบริหารการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. กล่าวว่า การเสริมสร้างศักยภาพของครูผู้สอนทั้งโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง หน่วยศึกษานิเทศก์และศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติ ผ่านกระบวนการ PLC และ Coaching ร่วมกับ One Team สพฐ. ซึ่งจะทำให้การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ