สพฐ. ร่วมกับ อาชีวะ สร้างโอกาส 40 โรงเรียนมีเวทีแสดงศักยภาพทักษะหลากหลายอาชีพ คอมพิวเตอร์-ภาษา-เพลงลูกทุ่ง-ท่องเที่ยว

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ระดับมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565” ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม โดยมี นางอรพรรณ สินประสงค์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม นายอดิศร สินประสงค์ ผู้จัดการวิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. และสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร รวมถึงคณะกรรมการ คณาจารย์ ผู้มีเกียรติ และนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วม ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีโรงเรียนมัธยมศึกษาต่าง ๆ ร่วมส่งคณะครูและนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 40 แห่ง รวม 594 คน

สำหรับโครงการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ระดับมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 จัดโดย วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์ การฝึกทักษะวิชาชีพกราฟิกดีไซน์ ด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก การใช้ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ในการประกวดสุนทรพจน์ และเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกประสบการณ์จริงด้านการนำเสนอขายสินค้าและบริการ การส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการท่องเที่ยว อันจะนำไปสู่การมีทักษะวิชาชีพอย่างมืออาชีพในอนาคต รวมถึงได้แสดงออกถึงความสามารถในการใช้อักขระ ภาษา ทำนองในการร้องเพลงลูกทุ่งไทย การอนุรักษ์และสืบสานงานเพลงลูกทุ่งไทย และเพื่อเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี และความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษาด้วยกัน โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมการประกวดและการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษา รวม 6 ประเภท ได้แก่

1. กิจกรรมประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย

2. กิจกรรมประกวดสุนทรพจน์ ภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ

3. กิจกรรมแข่งขันทักษะวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์ ROV PM-TECH TOURNAMENT 2022

4. กิจกรรมแข่งขันทักษะวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก

5. กิจกรรมแข่งขันทักษะวิชาชีพด้านเทคนิคนำเสนอขายและบริการ

6. กิจกรรมแข่งขันตอบคำถามด้านการท่องเที่ยว

รวมถึงนิทรรศการผลงานของอาจารย์และนักศึกษา เพื่อแสดงศักยภาพแต่ละสาขาวิชา ของวิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม นิทรรศการศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา และการออกร้านของนักศึกษา เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านธุรกิจ ของนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 40 ร้านค้า และกิจกรรมของนักศึกษาองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างดียิ่ง จากโรงเรียนมัธยมศึกษาต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการที่ให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเข้าร่วมงานในวันนี้ ตนรู้สึกชื่นชม ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม ได้ให้การสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาความรู้ ความสามารถด้านทักษะวิชาชีพให้แก่เยาวชน เนื่องจากวิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการศึกษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะเดิม Up-skill และเพิ่มเติมทักษะใหม่ Re-skill ของผู้เรียนในยุคดิจิทัล จึงต้องเตรียมความพร้อมที่จะมุ่งส่งเสริมและปลูกฝังให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เกี่ยวกับความรู้ความสามารถที่เข้มแข็งด้านทักษะวิชาชีพ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงสนับสนุนเยาวชนไทยให้มีความสนใจ ใส่ใจในการร่วมอนุรักษ์ สืบสานเพลงลูกทุ่งไทย ซึ่งได้ดำเนินการจัดโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความรู้ ความสามารถด้านทักษะวิชาชีพ ด้านคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์กราฟิก การฝึกความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในการประกวดสุนทรพจน์ การฝึกประสบการณ์จริงด้านเทคนิคการนำเสนอขายสินค้าและบริการอย่างมีศิลปะ การส่งเสริมความรู้ด้านทักษะวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว และการแสดงออกถึงความสามารถด้านการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

“ในการแข่งขันทุกประเภท ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็เป็นโอกาสที่ได้แสดงศักยภาพ ความทุ่มเท ความเสียสละ อย่างน้อยได้ทำในสิ่งที่นักเรียนแต่ละคนถนัด เกิดความภาคภูมิใจ ได้เรียนรู้และแสดงออกสิ่งที่ดีงาม รวมถึงสิ่งที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข รางวัลที่ได้คือความทุ่มเทและความพยายามของทุกคน สุดท้ายนี้ดิฉันขอชื่นชมทุกฝ่ายที่ได้ร่วมมือกันทำให้กิจกรรมการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ระดับมัธยมศึกษา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้น กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ และ KPI ของ เลขาธิการ กพฐ. ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะอย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่ทักษะด้านวิชาการเท่านั้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมโลกในยุคศตวรรษที่ 21 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนของชาติ มีความรู้ ความสามารถด้านทักษะวิชาชีพ รวมถึงเพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน ร่วมกันสืบสานเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นศิลปะอันงดงามให้อยู่คู่ไทยสืบไป และสามารถพัฒนาเป็น Soft Power เผยแพร่วัฒนธรรมด้านภาษาและดนตรีที่มีเอกลักษณ์ของไทยไปสู่สายตาชาวโลก ทัดเทียมกับวัฒนธรรม Pop Culture อื่นๆ ในระดับนานาชาติ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว