ศธ. – สพฐ. นำหนังสือพระราชทานลงสู่โรงเรียน ส่งเสริมหลักธรรมเป็นคนเก่งและคนดี

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าว การนำหนังสือพระราชทาน “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และ “สัมมาทิฏฐิฯ” ไปจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนาทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ร่วมในการแถลงข่าว พร้อมด้วย พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมุมสากิโย) อธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก รวมถึงผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครู เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel ไปยังผู้ชมทั่วประเทศ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดพิมพ์หนังสือ เรื่อง “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และ “สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ” ซึ่งเป็นหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรทั่วไป ในโอกาสนี้ สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับพระราชทานหนังสือทั้งสองเรื่องดังกล่าวด้วย กระทรวงศึกษาธิการจึงขอน้อมนำรับสนองพระราชดำริให้เด็ก เยาวชน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ได้ศึกษาและนำไปจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะการจัดประสบการณ์ในลักษณะ Active Learning รวมถึงการนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ มาเป็นเป้าประสงค์ในแต่ละกิจกรรมด้วย คือเริ่มจากการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม มีงานทำมีอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดี และทรงมีพระวิสัยทัศน์ให้นำหนังสือทั้งสองเล่ม ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้และส่งเสริมการอ่าน ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเข้าใจหลักธรรม เพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนาตนเองให้มีความยั่งยืนสมบูรณ์พร้อม เพราะมีความรู้ควบคู่ธรรมะประจำตน ดังที่ทรงได้กล่าวถึงพระวิสัยทัศน์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งในการพัฒนาการศึกษาของไทย โดยทรงเริ่มพัฒนาคน คือประชาชน ให้มีการศึกษาอย่างทั่วถึงเป็นอันตับแรก

“กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นยิ่งยวด ที่ต้องเร่งแก้ไขคลี่คลายให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด เนื่องเพราะสภาพปัญหาปัจจุบันที่รุมเร้าลุกลาม การกระทบกระทั่ง ความขัดแย้งรุนแรง การละเมิดกฎหมาย การเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากผู้ใหญ่ เด็กเยาวชนเป็นผู้กระทำ หรือเป็นผู้ถูกกระทำ ในหลายลักษณะและหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหาย เศร้าสลดใจ มีความรุนแรงให้พบเห็นมากขึ้น การนำหลักธรรมในหนังสือพระราชทานทั้งสองเล่มนี้ ไปต่อยอดการจัดการศึกษา จึงเป็นกุญแจสำคัญ ให้ผู้ที่ศึกษาได้เรียนรู้ เข้าใจ และกล่อมเกลาความคิดอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยเฉพาะการนำศีลธรรมมาเป็นตัวชี้นำการดำเนินชีวิต สามารถปรับตัวพัฒนาตนเองตามสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมประเทศชาติ และสังคมโลกตลอดไป” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานหนังสือ “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และหนังสือ “สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ” จำนวน 4,000 ชุด รวมถึงไฟล์การ์ตูนแอนิเมชัน เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร และ สัมมาทิฏฐิ ทะลุมิติมายา ให้กับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในโอกาสนี้ สพฐ. ขอน้อมรับพระราชดำริไปพัฒนาในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะแก่นสาระจากหนังสือพระนิพนธ์ทั้งสองเรื่อง ไปจัดทำกิจกรรมการเรียนการสอน เกี่ยวกับการบริหารจิตการเจริญปัญญา อาทิ การทำสมาธิเพื่อความปกติสุขในวิถีชีวิตใหม่ การใช้สติปัฏฐานในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาตนเอง ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจมีความคิดถูกต้อง และนำไปปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม และเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ในสังคมปัจจุบัน ซึ่ง สพฐ. ได้จัดส่งหนังสือให้โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม และส่งไฟล์การ์ตูนแอนิเมชันให้โรงเรียนในเดือนกันยายน 2565 แล้ว

พร้อมกันนี้ได้ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนและคุณครู ได้ศึกษาหนังสือและการ์ตูนแอนิเมชัน และหาวิธีการเพื่อส่งเสริมให้กับนักเรียนได้ดู ได้อ่าน ได้ศึกษาทำความเข้าใจ และนำความรู้ไปฝึกปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน โดยเนื้อหาในหนังสือทั้งสองเรื่อง เป็นเนื้อหาที่กำหนดให้เรียนอยู่แล้วในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังนั้น ครูสามารถนำเนื้อหาไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ หรือจัดประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้หลายวิธีการ ทั้งการสอนตามตัวชี้วัดของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม การสอดแทรกและ/หรือบูรณาการในรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมต่าง ๆ ของหลักสูตรสถานศึกษา ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในลักษณะชุมนุม/ชมรม จัดเสริมเป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียน หรือจัดเป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและจัดบริการการอ่านไว้ในห้องสมุดได้

“ทั้งนี้ การนำหนังสือ “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และหนังสือ “สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ” ไปใช้ ไม่ได้กำหนดให้โรงเรียนต้องจัดในวิธีการใดเป็นการเฉพาะ โรงเรียนสามารถเลือกใช้วิธีการใดก็ได้ที่กล่าวไว้ หรือวิธีการอื่นใดที่เห็นว่าเหมาะสมกับสภาพบริบทของโรงเรียน ครู และนักเรียน ซึ่งการจะทำให้ประสบผลสำเร็จได้ ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูทุกคนร่วมมือและช่วยกัน และขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้กำกับ ติดตาม ส่งเสริม และสนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการและรายงานให้ สพฐ. ทราบด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว