ศธ. ชู เรียนประวัติศาสตร์แนวใหม่ ต่อยอด Active Learning ผ่านการคิด วิเคราะห์ สร้างความภูมิใจในความเป็นไทยสู่สากลโลก

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด อาทิ นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา พร้อมด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ครู นักเรียน โรงเรียนสันกำแพง สพม.เชียงใหม่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย สพม.พระนครศรีอยุธยา และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี สพม.จันทบุรี ตราด รวมถึงผู้แทนมูลนิธิสถาบันการศึกษา ในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ จัดนิทรรศการการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำทีมคณะรัฐมนตรี ชมนิทรรศการ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “ประวัติศาสตร์เริ่มต้นเรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัว เพียงเดินออกจากบ้านก็สามารถเริ่มเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้”

​นิทรรศการการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ จัดแสดงเนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้

1. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเน้นย้ำให้สถานศึกษานำไปใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในมิติของการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล รวมถึงการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้

2. ตัวอย่าง Best Practice การเรียนการสอนประวัติศาสตร์จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่

2.1 โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เสนอ “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ใกล้ตัว สู่การสร้างสรรค์ชุมชนอย่างยั่งยืน” หาความรู้จากชุมชนใกล้ตัวของผู้เรียน และจัดทำสื่อถ่ายทอดประสบการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Podcast, TikTok, YouTube เพื่อสร้างการรับรู้ในประวัติความเป็นมา ผลิตภัณฑ์ชุมชน จุดเด่น เอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจ จนมีผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนของตนเอง

2.2 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเสนอ “เรียนรู้อย่างภูมิใจ สู่นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นเยาว์” ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในห้องเรียน ด้วยสื่อแอนิเมชัน “THE DIARY บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์” จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ขยายสู่การเรียนรู้จากแหล่งเรียนประวัติศาสตร์รอบโรงเรียน จนกลายเป็นความภาคภูมิใจ และส่งต่อความภาคภูมิใจสู่สาธารณชนในหลายรูปแบบ ทั้งโครงการจิตอาสา และมัคคุเทศก์น้อย

3. สื่อและแหล่งเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายรูปแบบ เช่น

– สื่อการ์ตูนแอนิเมชัน (Animation) “THE DIARY บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์” จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ เรียนรู้อย่างสนุกสนานเหมาะสมกับวัย ไปกับ 68 ตอน ที่สรุปย่อประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงรัตนโกสินทร์ และผูกเรื่องราวได้น่าติดตาม เหมาะกับวัยของนักเรียน

– สื่อการ์ตูนแอนิเมชัน “เมืองเนรมิตแห่งจิตตนคร” และ “สัมมาทิฏฐิ ทะลุมิติมายา” จากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เสนอแนวคิดคุณธรรมที่เข้าใจง่ายสำหรับเยาวชน ซึ่งสามารถศึกษาต่อในเชิงลึกผ่านหนังสือพระราชทาน “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และ “สัมมาทิฏฐิ” ได้ ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้พิสูจน์อักษรหนังสือสัมมาทิฏฐิเล่มต้นฉบับด้วยพระองค์เอง ภายในมีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรมนำชีวิตเป็นสุข และความเห็นถูกต้องซึ่งเป็นพื้นฐานของความสำเร็จของชีวิต

– สื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นอกห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Field Trip) เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย 3 สมัย

– สื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (VR : Augmented Reality) การเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านธนบัตรไทยรัชกาลที่ 10 เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

– สื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย เรียนรู้พัฒนาการประวัติศาสตร์ไทย สมัยรัตนโกสินทร์ โดยสถานศึกษาสามารถใช้สื่อดังกล่าวประกอบการจัดการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ที่เข้าถึงใจผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เกิดความรัก ความผูกพัน ความหวงแหน และความภาคภูมิใจในแผ่นดินไทยยิ่งขึ้น

4. การนำเสนอ สาธิต และมอบสื่อบอร์ดเกม ดุสิตธานี จากมูลนิธิสถาบันการศึกษา ในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ได้อย่างแยบยล ผ่านการเล่นบอร์ดเกม รวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์ และการเรียนรู้แบบ Active Learning ระหว่างครูและผู้เรียน ส่งผลให้มีทัศนคติ/เจตคติที่ดีต่อตนเอง สังคม ชุมชน และประเทศชาติ

“ทั้งนี้ การแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์นั้น ท่านเลขา กพฐ. นายอัมพร พินะสา ได้กล่าวว่า เป็นสิ่งที่กำหนดในโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาแล้วตามหลักสูตรแกนกลางฯ 51 ในครั้งนี้จึงเป็นการประกาศเพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์หลากหลายมิติมากขึ้น ด้วยวิธีการและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เรียนน้อย ได้มาก มีความทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งครูผู้สอนสามารถออกแบบการเรียนรู้โดยใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ผ่านกระบวนการคิด จากปราชญ์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน บูรณาการแหล่งเรียนรู้กับตัวชี้วัด ให้เป็นห้องเรียนรวมวิชา ด้วยการลงมือปฏิบัติ จนเกิดเป็นสมรรถนะ และบ่มเพาะคุณลักษณะผ่านชุมชน ตามที่ท่าน รมว.ศธ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้เน้นย้ำในเรื่อง soft power  ผ่านกิจกรรมที่ต่อยอด Active Learning เน้นกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ แล้วนำความรู้ที่ได้มาสร้างสรรค์นวัตกรรมจนเกิดเป็นความภาคภูมิใจในความเป็นไทยคืนสู่สังคมได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด” รองเลขา กพฐ. กล่าว