สพฐ. ขอบคุณมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ เพิ่มโอกาสโรงเรียนปลายทางคุณภาพชัดระดับประเทศ ในโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นำทีม One Team สพฐ. ประกอบด้วย รก.ผอ.สทศ. รอง ผอ.สทร. รอง ผอ.สวก และนักวิชาการศึกษา สทศ. สทร. สวก. และ ศนฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สําหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะที่ 2 สำหรับกลุ่มโรงเรียนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงเรียนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร  ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์  พร้อมประชุมโรงเรียนในโครงการฯ ร่วมกับคณะกรรมการในภูมิภาค ประกอบด้วย ประธานกรรมการและผู้ตรวจราชการกลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำ เขตตรวจราชการที่ 11 และ 13  ผอ.สพม.มุกดาหาร  ผอ.สพป. บุรีรัมย์ เขต 4  รอง ผอ.สพม.มุกดาหาร  รอง ผอ.สพม.นครพนม  รอง ผอ.สพป.มุกดาหาร  ผอ.โรงเรียนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร  ผอ.โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม จังหวัดนครพนม  ผอ.โรงเรียนบ้านกกตูม จังหวัดมุกดาหาร และ ผอ.โรงเรียนวัดฤาษีสถิต จังหวัดบุรีรัมย์

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า จากการที่ได้ทำโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง 3 ปี ซึ่งจบระยะที่ 1 แล้วนั้น  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีโรงเรียนต้นทางคือ โรงเรียนมุกดาหาร และโรงเรียนปลายทาง ได้แก่  โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม โรงเรียนบ้านกกตูม และโรงเรียนวัดฤาษีสถิต พบว่า ผลจากการดำเนินการระยะที่ 1 ในปีแรก ได้พบสิ่งที่ต้องพัฒนาร่วมกัน และสามารถดำเนินการตั้งแต่นักเรียนเริ่มเรียน ม.1 จนจบ ม.3  จึงสรุปผลการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 เน้นคุณภาพผู้เรียนนั้น  โรงเรียนต้นทางสามารถดำเนินงานโครงการเป็นไปได้ด้วยดี สามารถช่วยนักเรียนโรงเรียนปลายทางได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนโรงเรียนต้นทาง ด้วยมีความพร้อมด้านบุคลากรและสื่อการจัดการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทางจากมูลนิธิฯ และ สพฐ. รวมทั้งเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นต้นสังกัดของโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทางเป็นอย่างดี  สพฐ. ได้จัดคณะดำเนินงานเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ได้เพิ่มสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และหน่วยศึกษานิเทศก์ เพื่อเพิ่มคุณภาพการจัดการเรียนรู้ในการช่วยพัฒนาครูทั้งต้นทางและปลายทาง เนื่องจากในระยะแรกของการดำเนินโครงการพบความสำเร็จที่นักเรียนปลายทางได้รับการเติมเต็มศักยภาพ เติมความพร้อมผ่านครูต้นทางและมีครูปลายทางช่วยสอนเพิ่มและกระตุ้นการเรียนรู้ ทำให้คุณภาพเกิดขึ้นกับนักเรียนโรงเรียนปลายทางที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ สร้างความภาคภูมิใจให้ทั้งครูต้นทางและปลายทาง รวมทั้งผู้ทึ่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ในระยะที่ 2 จึงได้เพิ่มแนวทางในการช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผลสำหรับผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคุณครูทั้งต้นทางและปลายทางมีการ PLC วางแผนร่วมกันมากยิ่งขึ้น เป็นภาพที่น่าชื่นชมและบอกต่อเพื่อเป็นแบบอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม ทั้งนี้ศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่จะเป็นพี่เลี้ยงและดูแลทั้งโรงเรียนต้นทางและปลายทางอย่างใกล้ชิด

สำหรับความคืบหน้าและสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วของโรงเรียนต้นทาง  โรงเรียนมุกดาหารได้จัดกิจกรรมประชุมผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่ดูแลระบบ ได้ร่วมกันจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ระยะที่ 2  ด้านโรงเรียนปลายทาง จากระยะที่ 1 ที่ผ่านมาพบว่า ผลที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพเชิงประจักษ์ของโรงเรียนวัดฤาษีสถิต มีนักเรียนและผู้ปกครองมองเห็นความสำคัญของโครงการ ส่งผลให้นักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนเพิ่มขึ้น  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในรายวิชาภาษาไทย ได้รางวัลชนะเลิศการเขียนเรียงความระดับประเทศ  โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม จัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบห้องเรียนคู่ขนาน บรูณาการโครงการ IDL และ I-CLASSROOM จนได้รับการคัดเลือกสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการ Thailand New Gen Inventors Award 2023 (I – New Gen Award 2023) “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 และโรงเรียนบ้านกกตูม หลังจากจัดโครงการระยะที่1 มีนักเรียนสนใจเข้าศึกษาต่อจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยังได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ต่อสู้Thailand Manual Robot Challenge และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 การแข่งขันหุ่นยนต์ E-SAN ROBOCON & TECHNOLOGY FAIR 2022

“จากผลสำเร็จในระยะที่ 1 และดำเนินการในระยะที่ 2 สพฐ. ขอขอบคุณมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เริ่มและสนับสนุน ให้คำแนะนำ ติดตามอย่างใกล้ชิดโดยตลอด และขอชื่นชมคุณครู คณะผู้บริหาร ผู้ประสานงาน โรงเรียนต้นทางที่ต้องพัฒนาตนเอง รวมทั้งเตรียมการจัดการเรียนการสอนเพิ่อให้นักเรียนทั้งต้นทางและปลายทางสามารถเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ เข้าถึงความรู้ได้ทุกคนทั้งที่อยู่โรงเรียนต้นทางที่มีความพร้อมสูงและโรงเรียนปลายทางที่อยู่ห่างไกลออกไป  และขอขอบคุณโรงเรียนปลายทางที่พร้อมเติมเต็มพัฒนาตนเองและนักเรียนอย่างเต็มที่ รวมทั้งร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการ Active Learning ให้เด็กเรียนรู้ ได้คิด ได้เปิดโลกทัศน์ และร่วมกันพัฒนานักเรียนกับครูต้นทาง นอกจากเป็นการเพิ่มศักยภาพครูร่วมกันพัฒนาแล้ว ยังมีศึกษานิเทศก์ที่พร้อมให้คำแนะนำและร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งจากความสำเร็จของการร่วมกันพัฒนาผู้เรียน ทำให้การสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนที่พร้อมสูงช่วยสร้างโอกาสแบ่งปันบุคลากรให้โรงเรียนปลายทาง เป็นโมเดลในการพัฒนาคุณภาพที่จะทำให้ความแตกต่างของคุณภาพโรงเรียนและจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทึ่มากมาย สามารถนำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนต่างๆได้มากขึ้น  นักเรียนจะได้รับโอกาสและการพัฒนา ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนใด สามารถเข้าถึงคุณภาพได้เท่าเทียมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ สทร. จะทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับระบบ และอุปกรณ์การเรียนการสอน จากนั้น สพฐ. จะนัดหมายสำนักที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมสรุปผลการตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการ เพื่อเตรียมการนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการพัฒนาคุณภาพเพื่อดำเนินการระยะที่ 2 ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว