วันที่ 11 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมบรรยายในการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเรียนรวม รุ่นที่ 1 ประกอบด้วย ผู้บริหารการศึกษา (สพท.) 245 คน ผู้บริหารโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 52 คน ผู้บริหารศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 คน และทีมสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ รวมทั้งสิ้นเกือบ 400 คน ณ โรงแรมเลอบาหลี รีสอร์ทแอนด์สปา พัทยา จ.ชลบุรี
สำหรับการอบรมครั้งนี้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะการประเมินความสามารถพื้นฐาน การคัดกรองนักเรียนด้านการอ่าน การเขียน และคิดคำนวณ เพื่อร่วมกันจัดกระบวนการเรียนรวมให้มีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อเอื้ออำนวยให้ครูสามารถดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ ได้ผลเชิงประจักษ์โดยไม่เป็นภาระ แต่มีหลายส่วนร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายบริหารเขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน นักจิตวิทยาที่รับผิดชอบงานจัดการศึกษาเรียนรวม ศูนย์การศึกษาพิเศษ ผอ.รร. ครู ครูพี่เลี้ยง ตลอดจนผู้ปกครอง เครือข่ายอื่นๆ ให้สามารถจัดการศึกษาเรียนรวมตามบทบาทได้อย่างมีคุณภาพ เพิ่มสมรรถนะ ดึงศักยภาพนักเรียนได้ตามความสามารถของนักเรียน โดยให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นหน่วยสนับสนุนการจัดการเรียนรวม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ระหว่างสถานศึกษาและ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการจัดการศึกษาเรียนรวมและมีการนำเสนอผลงานวิชาการ (symposium) ต่อสาธารณชน รวมทั้งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ รวบรวมสื่อการจัดการเรียนรู้ในการจัดการเรียนรวม เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
โดยผลที่คาดหวังจะได้รับจากการอบรม คือ นักเรียน เรียนรวมที่มีแนวโน้มที่ต้องเติมประสบการณ์ทางการเรียนรู้จะได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพสอดคล้องความต้องการจำเป็นพิเศษบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้สามารถอ่านออกเขียนได้คิดคำนวณเป็น ดำเนินชีวิตในสังคม ได้อย่างมีความสุข มีส่วนในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ทางด้านผู้บริหาร ครูผู้สอน ศึกษานิเทศ บุคลากร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือตามบทบาทหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาการจัดการศึกษาเรียนรวมอย่างเป็นรูปธรรม เกิดโรงเรียนคุณภาพการจัดการเรียนรวมต้นแบบสามารถสร้างและพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เรียนรวมคุณภาพตามบริบทของพื้นที่และขยายความเข้มแข็ง โรงเรียนเครือข่าย ศูนย์การศึกษาพิเศษมีความพร้อมในการสนับสนุนการจัดการศึกษาเรียนรวมแบบบูรณาการทุกภาคส่วนในระดับจังหวัด มีระบบการนิเทศกำกับและติดตามให้สถนศึกษาจัดการศึกษาเรียนรวมที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน และยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศ
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ในการยกระดับการศึกษาเรียนรวม อย่างแรกครูควรมีองค์ความรู้ มีความพร้อมในการจัดการเรียนรวม การแยกประเภทเด็กคัดกรอง การวัดผลประเมินผลที่แตกต่างกัน แผนบูรณาการ และการเติมเต็มที่หลากหลายให้กับนักเรียน อย่างที่สอง คือ เรื่องของกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้ที่ต้องเข้มแข็ง นั่นคือเรื่องของสื่ออุปกรณ์ต่างๆ เมื่อมีองค์ความรู้ก็ต้องมีบรรยากาศของการเรียนรู้ ที่พร้อมเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นเชิงประจักษ์กับนักเรียน และอย่างที่สามที่เราต้องดำเนินการ คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นโซ่คล้องโยงใยระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ และเป็นตัวเชื่อมที่ชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนแต่ละโรงขาดอะไร ควรเติมอะไร เป็นที่รวมของการพัฒนา การส่งเสริม การพูดคุยกัน การร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ แบ่งปันบุคลากร ความรู้ สื่อ และแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ ขับเคลื่อนระดับจังหวัด ร่วมหาเครือข่าย การทำงานร่วมกัน และเอื้ออำนวยกันเพื่อส่งต่อคุณภาพให้กับนักเรียน โดยมีองค์ประกอบผู้รู้ ผู้ขับเคลื่อนและผู้ส่งต่อให้การศึกษาพิเศษ คณะกรรมการชุดนี้ก็จะคอยแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องอัตรากำลัง เรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ เรื่องขององค์ความรู้ และสนับสนุนส่งเสริมทำให้งานในระดับพื้นที่สามารถเดินไปต่อได้ โดยไม่โดดเดี่ยว
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า อีกส่วนที่สำคัญ คือ เครือข่ายต้องเข้มแข็ง เป็นเครือข่ายที่บอกว่า เราจะทำอย่างไรร่วมกับ อบจ. เทศบาล ศึกษาธิการจังหวัด หรือหน่วยงานต่างๆ พัฒนาให้เห็นเชิงประจักษ์ ตัวอย่างเช่นนครราชสีมา มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่มองว่ายากจะกลับเป็นง่าย และสิ่งที่จะร่วมภาคภูมิใจด้วยกันจะเกิดขึ้นได้ทุกที่ จากการศึกษาเรียนรวมโดยไม่แบ่งแยกเด็กนักเรียนแต่ละคนมีโอกาสพัฒนา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของเลขาธิการ กพฐ. เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ศักยภาพต้องถูกดึงขึ้นมาในความแตกต่างของแต่ละคน และเติมสิ่งที่ขาดของเด็กทุกคน ขอให้มองว่า เด็กทุกคนสร้างความภาคภูมิใจให้กับ สพฐ.ได้โดยไม่เลือกประเภท และสิ่งสุดท้าย คือ Intensive ทำอย่างไรถึงจะมีการทำงานด้วยใจ ซึ่งการทำงานด้วยใจต้องเห็นภาพของคุณภาพ แล้วชูคุณภาพของนักเรียน และทำให้รู้สึกว่าทุกๆ เขตพื้นที่ ทุกๆ จังหวัด สามารถจัดการเรียนรวมจนทำให้เกิดคุณภาพเชิงประจักษ์กับนักเรียนได้ จากตัวอย่างที่ได้ดู จะเห็นเลยว่า ไม่ว่าเด็กจะมีต้นทุนมาอย่างไร เราต้องพัฒนาเขาให้ถึง ให้ตรงจุด ให้ตรงกับศักยภาพ แล้วเขาจะสร้างความภูมิใจให้เราอย่างไม่มีลืมเลือน จะเห็นได้จากตัวอย่างของโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ที่ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ ของทุกคนในโรงเรียน สร้างเด็กเรียนรวมที่ทำให้เกิดบรรยากาศของการช่วยเหลือ แบ่งปัน และเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน จนทำให้เด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ สามารถมีงานทำที่ดี นอกจากดูแลตัวเองได้ ยังสามารถดูแลครอบครัวตัวเองได้ด้วย ซึ่ง สพฐ. ต้องร่วมให้กำลังใจ นำมาเป็นต้นแบบโรงเรียนที่ทุ่มเทและเสียสละ สร้างนักเรียนคุณภาพในเชิงประจักษ์โดยไม่เลือกประเภทของนักเรียน ซึ่งคาดว่ายังมีอีกมากมาย
“ทั้งนี้ งานที่เราทำในส่วนนี้จะเป็นประเด็นท้าทาย เป็นการดำเนินการนำคุณภาพลงสู่ผู้เรียนในเชิงประจักษ์ ที่สามารถนำไปสู่ PA หรือ วิทยฐานะของคุณครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ วันนี้ต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่ร่วมใจกันทำงานเชิงประจักษ์ เชิงคุณภาพ เชิงรุก รวมทั้งแลกเปลี่ยนกันได้อย่าง Smart Leader มาร่วมกันสร้างโอกาสให้กับเด็กทั้งประเทศในทุกๆ ที่ พร้อมกันค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 39/2567 - 1 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ร่วมเยี่ยมชมห้องเรียนนำร่อง Chromebook เตรียมความพร้อมสู่อนาคตยุค AI ณ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ - 1 ตุลาคม 2024
- เลขาธิการ กพฐ. “ธนุ” ร่วมพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 7 - 29 กันยายน 2024