สพฐ. ติวเข้มรองผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ขับเคลื่อนคุณภาพนักเรียนครบมิติ เป็นต้นแบบทั้งประเทศ

วันที่ 12 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) บรรยายพิเศษการยกระดับศักยภาพรองผู้อํานวยการกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อสร้างองค์ความรู้และสมรรถนะการบริหารโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามอุดมการณ์และเป้าหมายการพัฒนานักเรียน มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั่วประเทศ กว่า 60 คน

ในโอกาสนี้ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี (vistec) และนายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี บรรยายหัวข้อ Science and Education 4.0 อีกทั้งการอบรมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูง อาทิ ศ.ดร.จํารัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช และ รศ.ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ ยรรยง ร่วมบรรยายในครั้งนี้ด้วย

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รองผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญสำหรับโรงเรียน ดังนั้นการพัฒนาในครั้งนี้จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในอุดมการณ์การพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยให้เพิ่มขีดความสามารถในการเติมคุณภาพนักเรียน ที่ไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมตามนโยบายที่จัดขึ้นเท่านั้น แต่กิจกรรมนั้นจะต้องให้นักเรียนได้คิด ได้วิเคราะห์ และซึมซับจากการลงมือปฏิบัติทั้งในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และผ่านการดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรชาติทั้ง 3 ด้าน คือ มาตรฐานตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งตรงกับอุดมการณ์ 9 ข้อ ของโรงเรียน และนำสู่กิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพนักเรียน โดยเติมความชัดเจนให้ถึงแก่นของการปฏิบัติ

“จากการจัดอบรมพัฒนาในครั้งนี้ ได้ชื่นชมความสำเร็จของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในหลายมิติ ทั้งผลการสอบ PISA ที่เทียบเท่าประเทศชั้นนำ ผลงานรางวัลโครงงาน นวัตกรรมในเวทีนานาชาติ แล้วนำไปต่อยอดในการใช้ได้จริงกับการจัดกิจกรรมบ่มเพาะนักเรียนในมิติต่างๆ ที่ทำให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข เพิ่มมิติทางสังคมอย่างรอบด้านให้กับนักเรียน นอกจากนี้ยังมีโอกาสเข้าศึกษาเรียนรู้ ณ สถาบันวิทยสิริเมธี เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECI) วังจันทร์วัลเลย์  ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTIC) IRPC Innovation Center และ ศูนย์ i2p center SCG ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทั้งองค์ความรู้ชั้นยอดระดับนานาชาติ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น Transmission Electron Microscope (TEM) ที่สามารถเห็นถึงโครงสร้างของอะตอมจากที่เคยเห็นในแบบจำลองหรือภาพในหนังสือ ทำให้ได้เห็นของจริง นำไปสู่การวิเคราะห์ผลและใช้ในการพิสูจน์ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า วิวัฒนาการที่ก้าวล้ำทางด้านวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิทยสิริเมธีนี้เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนที่มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างดี จึงเป็นอีกสถานที่ที่นักเรียน ครู ควรได้มาเติมเต็มองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การต่อยอดและเป็นแบบอย่างของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนที่เปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ในสังกัด สพฐ. ที่จะได้เสริมศักยภาพของนักเรียนที่มีความสามารถเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ในทุกมิติ ในการอบรมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีของรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับฟังแนวคิด แนวปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ มีประสบการณ์สูง รวมทั้งยังได้เติมความรู้กับอุปกรณ์ที่ทันสมัย สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ต่อยอดงานนวัตกร ยอดนักประดิษฐ์ รวมทั้งการนำไปพัฒนานักเรียนสร้างแรงบันดาลใจ สู่โอกาสพัฒนาเด็กไทยเป็นผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ สร้างมูลค่าความเป็นไทย สู่สายตาโลก โดยจากนักคิด นักประดิษฐ์ นำไปสู่ความมั่งคั่งของประเทศ ภายใต้ความเป็นคนดีที่ภาคภูมิใจในความเป็นไทยซึ่งสามารถร่วมกันทำได้ ตามอุดมการณ์ 9 ข้อ ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้งประเทศ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว