สพฐ. ร่วมกับ วช. สร้างโอกาสต่อยอด Active Learning เวทีแสดงสมรรถนะระดับนานาชาติ

วันที่ 14 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นำทีม One Team สพฐ. (สทศ. สวก. สมป. สบว. สบน. และ สศศ.) และ ผอ.สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 2 รวมทั้ง ผอ.สพม.สุรินทร์ เข้าร่วมงาน พิธีมอบประกาศนียบัตรและแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ขั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี โดยมี ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม โดยการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศเกียรติคุณนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ จำนวน 149 ผลงาน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมที่ร่วมนำเสนอในเวทีนานาชาติที่ได้รับรางวัลสูงสุดจากการประกวด (Grand Prize) จำนวน 4 ผลงาน และรางวัลระดับเหรียญทอง จำนวน 59 ผลงาน

สำหรับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดนานาชาติ มีจำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่

1. โรงเรียนจอมพระประชาสรรค์ จ.สุรินทร์ ชื่อผลงาน “การยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ด้วยนวัตกรรมการผลิตและอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องเงินตะเกาว์ลายโบราณ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์” ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจาก Norton University ราชอาณาจักรกัมพูชา ในเวทีการประกวด 2022 Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE 2022) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน

2. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ชื่อผลงาน “วัสดุกันกระแทกที่พืชโตได้” ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในเวทีการประกวด Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และผลงาน “กระถางต้นไม้ดักยุง” ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจาก Croatian Inventors Network สาธารณรัฐโครเอเชีย ในเวทีการประกวด 2022 Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE 2022) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน

3. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ชื่อผลงาน “เกม Season Stone” ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในเวทีการประกวด Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และผลงาน “การศึกษาฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย Stapphylococcus ของสารสกัดหยาบจากใบสาบแร้งสาบกาที่บรรจุในไฮโดรเจล” ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในเวทีการประกวด Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และผลงาน “การพัฒนาเซ็นเซอร์แบบกระดาษเพื่อใช้ในการตรวจจับเหล็ก 2+ ในน้ำ” ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษจาก Toronto International Society of Innovation & Advanced Skills แคนาดา ในเวทีการประกวด 2022 Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE 2022) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน โดยโรงเรียนจอมพระประชาสรรค์ จ.สุรินทร์ เข้าร่วมการรับประกาศนียบัตรและจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ภายหลังการมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นำทีม One Team สพฐ. (สทศ. สวก. สมป. สบว. สบน. และ สศศ.) ร่วมประชุมกับผู้บริหาร วช. เพื่อหารือการประชาสัมพันธ์การจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 (Thailand Inventors’ Day 2023) ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการเผยแพร่ ถ่ายทอดและขยายผลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์ และสาธารณชน รวมถึงเป็นกลไกในการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักประดิษฐ์ไทยในการพัฒนาผลงานประดิษฐ์คิดค้นและเป็นแรงจูงใจในการประดิษฐ์คิดค้นแก่เยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนเปิดโอกาสในแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักประดิษฐ์จากนานาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ของครู เป็นการต่อยอด Active Learning และยังเป็นเวทีในการสร้างโอกาสในการแสดงสมรรถนะของนักเรียนในระดับนานาชาติ และเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ผลิตและนำมาใช้ได้จริง ช่วยชุมชน ช่วยในการแก้ปัญหา สร้างมูลค่าเพิ่ม และที่สำคัญคือ สร้างความภูมิใจให้นักเรียน ผู้ปกครอง ครู โรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนที่เริ่มต้นจากการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำมาใช้ได้จริง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมหารือกับทาง วช. อว. ในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นไปตามหลักสูตรชาติและต่อยอดไปสู่ Ultimate Outcome และสามารถไปได้ถึงนานาชาติได้ในทุกที่ของเด็กทุกคน ไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนใด เช่น ตัวอย่างจากนักเรียนโรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนจอมพระประชาสรรค์ จ.สุรินทร์ ที่ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน เขตพื้นที่ร่วมกันสนับสนุน ทำให้นักเรียนตอบอย่างภาคภูมิใจในผลงานที่เกิดจากความทุ่มเทอย่างมุ่งมั่นของนักเรียนเองและบอกอีกว่าเป็นความภูมิใจที่พูดไปได้ตลอด พ่อแม่ดีใจมาก นักเรียนบอกด้วยว่า ทำให้ใจฟูมาก หายเหนื่อย หรือความทุ่มเทของคณะครู ผอ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และ สบว. สพฐ. ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของนักเรียน ครู ทำให้ได้รางวัลในการสร้างชื่อเสียงให้ สพฐ มาโดยตลอด ไม่ใช่แค่ด้านวิชาการ แต่ทั้งด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามอุดมการณ์ 9 ข้อ ที่ทั้ง 12 โรงเรียนทั่วประเทศ ใช้พัฒนานักเรียนร่วมกัน ได้ผลเชิงประจักษ์ ถึงคุณภาพของนักเรียนที่ ดี และเก่งอย่างมีความสุข ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนานักเรียนของ สพฐ.