สพฐ. ชูพัฒนา Active Learning ปฐมวัย เพิ่มความรู้ ดูงานโรงเรียนเกษมพิทยา

วันที่ 14 ธันวาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้เยี่ยมชมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ระดับปฐมวัย ณ  โรงเรียนเกษมพิทยา เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2504 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน โดยในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน จำนวน 527 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 72 คน และมีวิสัยทัศน์ที่ดีน่าเป็นแบบอย่าง คือ การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในสังคมดิจิทัล เป็นผู้เรียนรู้จนเกิดสมรรถนะจากการลงมือปฏิบัติภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตรในการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมโรงเรียนเกษมพิทยาในวันนี้ พบว่าตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล มีปรัชญาการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กเป็นองค์รวม เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่น และประสบการณ์แบบลงมือทำ (Active Learning) โดยพ่อแม่และผู้ปกครองเปรียบเสมือนหุ้นส่วนการเรียน (Co-Learner) ในส่วนของรูปแบบการจัดประสบการณ์และกิจกรรม ใช้แนวคิดไฮสโคป เด็กได้วางแผน ลงมือทำ และทบทวน เด็กได้รับการจัดประสบการณ์ทางภาษาแบบธรรมชาติ มีการเรียนรู้แบบโครงการ ปีละ 4 ครั้ง ครั้งละ 3-4 สัปดาห์ นอกจากนั้นยังมีการนำการสอนดนตรี Kindermusik และการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยโปรแกรม Look+See by National Geographic Learning มาใช้เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยเด็กที่จบการศึกษาระดับอนุบาลได้รับการชื่นชมว่ากล้าคิด กล้าแสดงออก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดีและทักษะทางสังคม อารมณ์ เป็นต้นทุนชีวิตที่ดีมาก ทำให้แผนอนุบาลเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนเป็นสถาบันฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูปฐมวัยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างมีคุณภาพด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัยของประเทศไทย อย่าง ดร.วรนาท รักสกุลไทย ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โดยการบริหารงานของ นางศรีวรรณ สายฟ้า ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา รวมถึงทีมบริหารวิชาการที่เข้มแข็ง โดยนายชยพงศ์ สายฟ้า รองผู้อำนวยการโรงเรียน นางวีณา นนทพันธาวาทย์ ที่ปรึกษาด้านประกันคุณภาพและนางริสรวล อร่ามเจริญ ที่ปรึกษาแผนกอนุบาล ส่วนทางด้านห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็เป็นผู้นำในการริเริ่มโปรแกรมการเชื่อมต่อระดับอนุบาลกับชั้น ป.1 ด้วยการเตรียมความพร้อมในระดับชั้น ป.1 อีก 6 สัปดาห์ ทำให้เด็กที่ขึ้นชั้นประถมมีการสานต่อทักษะพื้นฐานและเรียนรู้ด้วยหัวใจที่เป็นสุข

“ทั้งนี้ สิ่งที่ขอชื่นชม คือ โรงเรียนเกษมพิทยาเป็นตัวอย่างสถานศึกษาที่มีกระบวนการจัดประสบการณ์ตรงอย่างเหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของเด็กแต่ละคน โดยดึงประสบการณ์เดิมของเด็กมาต่อยอดเติมเต็มการเรียนรู้ ทำให้การพัฒนาเด็กอย่างตรงจุด มีการออกแบบการเรียนรู้แบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้พัฒนาหลายความมุ่งหมายอย่างเป็นองค์รวม เด็กได้รับการต่อยอดอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำจากความรู้เริ่มต้นที่ต่างกันแต่เติมให้ได้มาตรฐานเดียวกัน พร้อมต่อยอดดึงศักยภาพตามความถนัดและชอบที่แตกต่างกัน เด็กได้เรียนรู้ตามเป้าหมายของตัวเองไม่ใช่เกิดจากกรอบของผู้ใหญ่ อีกทั้งส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เปิดโอกาสให้เด็กฝึกการตั้งคำถามที่อยากเรียนรู้ ทักษะภาษา การฟังพูดอ่านเขียนอย่างเป็นองค์รวม เช่น การกำหนดข้อตกลงร่วมกัน มุมธนาคารคำศัพท์ การอ่าน Big book และการใช้สื่อการเรียนการสอนที่เป็นธรรมชาติ หาได้ง่ายในท้องถิ่น ใกล้ตัวเด็ก เช่น กิ่งไม้แทนกระดูกไดโนเสาร์ เป็นต้น สำหรับสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบในการถอดประสบการณ์ตัวอย่างอัตลักษณ์ของนักเรียนที่จบและประสบความสำเร็จ นำไปพัฒนาต่อยอดให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้เป็นอย่างดีในทุกขนาดโรงเรียนและการเรียนรวมของทุกโรงเรียน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว