วันที่ 20 มกราคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Kick off and The diary “ย้อนรอยบันทึก สำนึกรักชาติ ประวัติศาสตร์ไทย” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบเชิงรุก พร้อมด้วย ผอ.สพป.กทม. ผอ.สพม.กท.1 รองหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตลอดจนนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด สพป.กทม. จำนวน 37 โรงเรียน เข้าร่วม ณ โรงเรียนพญาไท สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีนโยบายขับเคลื่อนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นนโยบายและจุดเน้นสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ด้วยการเรียนรู้ผ่านวิชาและกิจกรรมด้านประวัติศาสตร์ ในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมนี้ เพื่อติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่สถานศึกษาผ่านร่องรอยการคิดวิเคราะห์ จับประเด็น สื่อสารของนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม
.
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำ ไม่ใช่คำตอบของการทำให้เด็กเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนรู้ ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมุ่งเน้นการเรียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการนำไปสู่การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เช่น การศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกสถานที่ การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น การปรับใช้สื่อที่เหมาะกับยุคสมัยเข้าถึงใจนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์ ลงมือปฏิบัติ รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ เกิดการเรียนรู้แบบอยากเรียนรู้ และไปสู่เนื้อหาประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความสนุก ทำให้นักเรียนเข้าใจในองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น เห็นคุณค่าในสิ่งที่คุ้นชิน วิถีชีวิตและนำไปสู่นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีเหตุผลและมีความหมาย และนำไปสู่อาชีพได้
สิ่งที่ขอชื่นชมคือ สพป.กทม. มีการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครบมิติ คุณภาพลงถึงผู้เรียนในเชิงประจักษ์ ทั้งเรื่องของพฤติกรรมและการเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ชาติไทย ตัวอย่างที่ดีเห็นได้จากโรงเรียนพญาไท และโรงเรียนอนุบาลสามเสน เป็นต้นแบบ และจากงานวันนี้ทำให้เห็นว่าทุกโรงเรียนในสังกัด สพป.กทม. มีผลเชิงประจักษ์ที่น่าชื่นชม มีความหลากหลายในการนำเสนออัตลักษณ์ของแต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการสัมภาษณ์นักเรียนพบว่า ชอบสื่อแอนิเมชั่น “เดอะไดอารี่ บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย” ซึ่งสามารถเล่าจับประเด็น ลำดับขั้นตอน และยังสามารถดึงสิ่งที่ดู มาวิเคราะห์ให้เห็นถึงการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ออกมาเห็นเป็นคุณค่า รวมทั้งในเนื้อหาบางตอนยังนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ขอขอบคุณมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ได้ผลิตสื่อที่สามารถเข้าถึงใจนักเรียนได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้สื่อที่เหมาะสม ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในช่วงวัยใด โดย ผอ.เป็นผู้นำ มีคณะครูร่วมใจกัน หรือการพานักเรียนไปเรียนที่แหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมวิชา ใกล้โรงเรียนจะทำให้เด็กสามารถมีความคงทนต่อการเรียนรู้ได้อย่างดี รวมถึงความประทับใจที่ได้เรียนจะเกิดขึ้น อย่างเช่นน้องๆ นักเรียนโรงเรียนพญาไท 3 คน ได้แก่ ด.ญ.นีรนารา บัวระพา (น้องสีน้ำ) อ.2/3 ด.ญ.ลภัสรดา ธนการุณย์ (น้องซี) อ.3/5 และ ด.ช.วรบดินทร์ เกิดกุญชร (น้องภูผา) อ.3/3 ที่พูดจาฉะฉาน เก่ง กล้าแสดงออก ตอบคำถามอย่างมีไหวพริบ และมีการคิดวิเคราะห์ แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดและลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำตามบทเรียนในหนังสือ
“ทั้งนี้ สิ่งที่ขอฝากในการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แนวใหม่ คือการร่วมปลูกฝัง บ่มเพาะ นักเรียน ให้รู้คุณค่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และดึง soft power ที่เรามีออกมาใช้ สร้างคุณค่า ความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน โดยจัดหาสื่อฯที่เข้าถึงใจนักเรียน ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความสนุกสนาน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมทั้งจัดการเรียนรู้ นำไปสู่ Active Learning เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมคิด และลงมือปฏิบัติ ซึ่งครูทุกคนต้องร่วมมือกัน ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ผ่านการปรับการจัดการเรียนรู้ โดยบูรณาการแหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมรายวิชา รวบตัวชี้วัด ตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน เป็นการลดเวลา ลดภาระของครูและนักเรียน เมื่อนักเรียนมีเวลาและได้เรียนสิ่งที่สนใจและถนัด ก็จะทำให้อดทนต่อการเรียนรู้ จนสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานและนำไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ สอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตรชาติ ได้แก่ มาตรฐานตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน นั่นเองค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทางด้าน นายพิเชฐร์ วันทอง ผอ.สพป.กท. กล่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในการบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในรากเหง้า ความเป็นมาของชาติ เห็นคุณค่า และเกิดสำนึกรักชาติ ร่วมกันปกป้องรักษาความเป็นไทยสืบต่อไป โดยในปีการศึกษา 2566 สพป.กท. มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาสถานศึกษาภายใต้การกำกับ ดูแล และติดตามให้เป็นองค์การชั้นนำมุ่งสู่การพัฒนา กระบวนการจัดการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความเป็นไทย และสำนึกในความเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ จึงได้จัดกิจกรรม “ย้อนรอยบันทึก สำนึกรักชาติประวัติศาสตร์ไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบเชิงรุก Active Learning พร้อมทั้งพัฒนาสื่อและแหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่ พลเมือง สำหรับครูและนักเรียน และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ สำหรับครูและนักเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นเวทีสร้างสรรค์ที่จะนำความรู้และคุณค่าไปใช้ขยายผลและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เข้มแข็งต่อไป
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะ ยังได้ร่วมชมกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ อาทิ การแสดง ชุดรัตนโกสินทร์นิรมิตและชุดระบำรากไทย โดย โรงเรียนพญาไท การแสดงโขน ตอน ยกรบ โดย โรงเรียนวัดโสมนัส การแสดงเพลงประวัติศาสตร์ เพลง “เราสู้” โดย โรงเรียนสายน้ำทิพย์ “การพูดสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์” โดย เด็กหญิงพัชรี เสือซิว โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันพูดสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา การแข่งขันตอบปัญหาทางประวัติศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม Kahoot พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยโรงเรียนพญาไท และนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดยกลุ่มโรงเรียนทวารวดี กลุ่มโรงเรียนรัตนโกสินทร์ และกลุ่มโรงเรียนธนบุรี เป็นต้น
- สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข” - 15 กันยายน 2024
- เสมา 2 ชื่นชม สพฐ. ปรับโฉมใหม่ ประชุม ผอ.สพท. เน้นผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน - 14 กันยายน 2024
- เสมา 1 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ สั่งการเร่งช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัย - 13 กันยายน 2024