สพฐ. ปลื้มฟิสิกส์สัประยุทธ์ ส่งเสริมเด็กไทยคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566 ของโครงการห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภาคกลางตอนบน โดยมีผู้บริหารและครูโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภาคกลางตอนบน เข้าร่วม ณ หอประชุม โรงเรียนหอวัง กรุงเทพมหานคร

สำหรับการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ เป็นเหมือนการจำลองสังคมจริง ที่มีผู้พูด ผู้ถาม ผู้ตอบด้วยเหตุและผล รวมทั้งผู้วิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ และผู้ที่ได้ประโยชน์สิ่งดีๆ จากการเรียนรู้ ซึ่งจะสร้างให้นักเรียนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยการใช้เหตุผลในการคุยกัน นำไปสู่ความแตกต่างทางความคิดและเดินต่อไปด้วยเหตุผลร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้ธรรมนูญฟิสิกส์สัประยุทธ์ หรือข้อกำหนด เกณฑ์การแข่งขัน โดยการแข่งขันมี 3 ทีม และเสริมด้วยทีมสังเกตการณ์ ซึ่งจะแบ่งเป็น ทีมนำเสนอ ทีมซักค้าน และทีมวิพากษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้นำทฤษฎี ความรู้ และทักษะที่หลากหลาย มาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาตามโจทย์ที่ได้รับ รวมถึงส่งเสริมทักษะและฝึกประสบการณ์การทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้บทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น อีกทั้งส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์จากการนำเสนอ การตั้งคำถาม การตอบคำถาม ตลอดจนการใช้ปฏิภาณไหวพริบในการสื่อสาร และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนสู่มาตรฐานสากล ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ ซึ่งในปีนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 25 โรงเรียน แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นอย่างมาก

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สิ่งที่น่าชื่นชมจากการแข่งขันในครั้งนี้คือการรวมครูจากทั้ง 25 โรงเรียน เป็นโค้ชให้นักเรียนที่มาเข้าร่วมการแข่งขันให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพ ไหวพริบ การแก้ไขปัญหา รวมทั้งฝึกสังเกตการณ์และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเวทีแข่งขัน ถือว่าเป็นการพัฒนาด้านวิชาการร่วมกัน โดยการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์เป็นการนำเสนอให้ทีมอื่นๆ ยอมรับทฤษฎีหลักการและผลการทดลองของทีมตนเอง แล้วต้องฟังข้อคัดค้านจากทีมอื่นและหาเหตุผลมาอธิบายหักล้างพร้อมทั้งจับประเด็นทางฟิสิกส์ ถือเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างดี รวมทั้งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เป้าหมายของหลักสูตรชาติ ในด้านมาตรฐานและตัวชี้วัด ด้านสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนที่เน้นไปที่ความสามารถในการคิด การแก้ปัญหา และการสื่อสาร และในด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การใฝ่เรียนรู้ และการมุ่งมั่นในการทำงาน ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างและพัฒนาผู้เรียน ในทุกบทบาทที่ได้รับมอบหมาย นักเรียนทุกคนในทีมได้แสดงถึงศักยภาพได้อย่างรอบด้านครอบคลุมทุกมิติ

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการแข่งขันฯแล้ว ยังมีการแสดงวงดนตรีออเคสตร้าของนักเรียนโครงการห้องเรียนดนตรี โรงเรียนหอวัง ในช่วงพิธีเปิดการแข่งขันในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและทักษะด้านดนตรีของนักเรียนแต่ละคนอย่างชัดเจน และที่ผ่านมานักเรียนห้องเรียนดนตรี ของโรงเรียนหอวัง ประสบความสำเร็จในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 100% โดยมีนักเรียนที่มีโอกาสได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่ต่างประเทศอีกด้วย นับได้ว่าเป็นการสะท้อนถึงผลสำเร็จในการดำเนินโครงการห้องเรียนดนตรีของ สวก. สพฐ. ที่มีความตั้งใจมุ่งมั่นในการสนับสนุนส่งเสริมพัฒนานักเรียนที่มีความถนัดเฉพาะด้านอย่างแท้จริง ซึ่งต้องขอบคุณคณะกรรมการดำเนินงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่ทุ่มเทจัดกิจกรรมการแข่งขันครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อย รวมถึง สบว.สพฐ. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการที่ร่วมขับเคลื่อนสนับสนุนการจัดการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

“สำหรับผลการแข่งขันฯ ในวันแรกได้คัดเลือกทีมที่เข้ารอบจำนวน 9 ทีม จากทั้งหมด 25 ทีม จากนั้นทำการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ จนได้ทีมผู้ชนะจำนวน 3 ทีม เป็นตัวแทนของเครือข่ายฯ ไปร่วมแข่งขันระดับประเทศ ได้แก่ อันดับที่ 1 ทีมโรงเรียนปทุมวิทยาลัย จ.ปทุมธานี อันดับที่ 2 ทีมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ และอันดับที่ 3 ทีมโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับประเทศ จะมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้ ซึ่งกิจกรรมนี้ถือเป็นเวทีแสดงศักยภาพนักเรียน ที่สะท้อนผลถึงการทำงานเป็นทีม การนำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ การคิด วิเคราะห์และใช้เหตุผลทางวิชาการมาตอบคำถามและสื่อสารเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ ซึ่งถือว่าเป็นเวทีแสดงผลงานของครูในการถ่ายทอดและบ่มเพาะเด็กด้วยเช่นกัน รวมทั้งยังเป็นเวทีในการพัฒนาครูและนักเรียนไปพร้อมๆกันด้วยความเป็นโค้ชให้กับนักเรียน ต้องขอชื่นชมครูและผู้อำนวยการโรงเรียนที่สร้างโอกาสที่ดีให้กับนักเรียนค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว